วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ยานอวกาศ Viking

โครงการไวกิ้ง Viking Mission to Mars

โครงการไวกิ้งของนาซ่าสู่ดาวอังคาร เป็นโครงอวกาศที่มียานอวกาศสองลำคือ Viking 1 และ Viking 2 แต่ละลำจะประกอบด้วยยานโคจร (Viking orbiter) และ ยานสำรวจ (Viking lander) วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายภาพความละเอียดสูงของผิวดาวอังคาร ศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ รวมทั้งค้นหาสิ่งมีชีวิตด้วย.
Viking 1 ปล่อยจากฐานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1975 และถึงดาวอังคาร 19 มิถุนายน 1976 ใช้เวลา 10 เดือน ช่วงเดือนแรกในวงโคจร จะถ่ายภาพพื้นผิว และสำรวจจุดปล่อยยานสำรวจ ในวันที่ 20 กรกฏาคม 1976 Viking 1 Lander แยกตัวจากวงโคจรแล้วลงบนดาวอังคาร ที่ Chryse Planitia ตำแหน่ง 22.48 องศาเหนือ 49.97 องศาตะวันตก

Viking 2 ปล่อยจากฐานเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1975 ถึงดาวอังคาร 7 สิงหาคม 1976 ใช้เวลา 11 เดือน Viking 2 Lander ลงดาวอังคาร ที่ Utopia Planitia ตำแหน่ง 47.97องศาเหนือ 225.74 องศาตะวันตก เมื่อวันที่ 3 กันยายน 1976

สำหรับยานแม่ที่โคจรอยู่ ได้ส่งภาพพื้นผิวของดาวอังคาร ที่ระดับความสูงต่ำสุด 300 กิโลเมตร โดยมีรอบการโคจรรอบดาวอังคาร 1,400 รอบและ 706 รอบของยานไวกิ้ง 1 และ 2 ตามลำดับ

ยาน Viking Landers ได้ส่งภาพพื้นผิวดาวอังคาร วิเคราะห์ตัวอย่างหินและหาองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ศึกษาสภาพอากาศและองค์ประกอบ Viking 2 Lander สิ้นสุดการส่งภาพเมื่อวันที่ 11 เมษายน 1980 ส่วน Viking 1 Lander สิ้นสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 1982 หลังจากที่ส่งภาพมาได้กว่า 1,400 ภาพ จากผลการทดลองของยานไวกิ้ง ทำให้เราได้ภาพพจน์ของดาวอังคารดวงนี้ใหม่ การเกิดภูเขาไฟ , ลานลาวา, แคนยอน, ล่องลอยธารน้ำบนดาวอังคาร มีการวัดอุณหภูมิบริเวณโดยรอบที่ยานลงจอด อยู่ในช่วงระหว่าง 150 ถึง 250 องศาเคลวิน และสูงขึ้นในตอนกลางวันระหว่าง 35-50 องศาเคลวิน รวมทั้งสาเหตุของพายุฝุ่นขนาดใหญ่



ที่มา
ดาราศาสตร์.คอม

ยานอวกาศ StarDust

ภาพจาก http://www.jpl.nasa.gov/images/stardust/stardust-comet-browse.jpg

ยานสตาร์ดัสสร้างประวัติศาสตร์เก็บฝุ่นดาวหางวิลด์ 2

7 กุมภาพันธ์ ปี 1999 ยานสตาร์ดัส [Stardust Spacecraft] มูลค่า 165 ล้านดอลลาร์ขององค์การนาซ่าสร้างโดย ล็อคฮีดมาร์ตินสเปซซิสเท็มส์ และควบคุม ปฏิบัติการโดยห้องทดลองจรวดขับดัน [Jet Propulsion Laboratory] ทะยานขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดเดลต้า 2 ณ แหลมคานาเวอราล ฟลอริดา เพื่อเก็บฝุ่นอวกาศ และฝุ่นของดาวหางวิลด์ 2 [Wild 2]

สตาร์ดัสไม่ได้เดินทาง อย่างโดดเดี่ยว แต่ไปพร้อมกับชื่อมนุษย์กว่า 1 ล้านชื่อ ซึ่งถูกสลักลงบนไมโครชิป 2 แผ่น ในจำนวนนี้ มีคนไทยรวมอยู่ด้วยประมาณสองร้อยคน

ต่อมาในปี 1986 ยานอวกาศ เวก้า 1 และ2 ของ รัสเซียยานกิออตโตของ องค์การอวกาศยุโรป ยาน ซาคากากิ ของญี่ปุ่น ทำการสำรวจดาวหาง ฮัลเลย์ที่สวยงาม ทว่าสตาร์ดัสเป็นยานลำแรกในประวัติศาสตร์ ที่จะเก็บฝุ่นจากดาวหางและฝุ่นอวกาศ กลับมายังโลก

ดาวหางเป็นหนึ่งในเทหวัตถุที่สวยงามที่สุดในจักรวาล ใช่แต่เพียงเท่านั้น ความสำคัญของมันคือ เป็นวัตถุดั้งเดิม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย นับตั้งแต่กำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน มันจึงอาจเป็นผู้ให้คำตอบ ที่นักวิทยาศาสตร์อยากรู้มานาน เกี่ยวกับการกำเนิด และวิวัฒนาการของระบบดาวเคราะห์ของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าดาวหางมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสิ่งมีชีวิตบนโลก องค์ประกอบของ สิ่งมีชีวิตบางชนิด ประกอบด้วย น้ำและคาร์บอนซึ่งไม่ได้มีบนโลกเราในช่วงแรกๆ แต่ขณะนั้นมีอยู่อย่างอุดมในดาวหาง และโลกยุคนั้นก็ได้ถูกถล่มโดยกองทัพดาวหาง

โทมัส มอร์แกน ผู้เชี่ยวชาญของนาซ่ากล่าวว่า “เหตุผลพื้นฐานประการหนึ่ง ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ให้ความสนใจ ศึกษาดาวหางอย่างมากก็คือ ดาวหางนำกรดอะมิโน องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตและนิวคลีไอของมัน ก็เป็นส่วนประกอบ ของดาวเคราะห์ชั้นนอก “

ดาวหางประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ คือใจกลางที่เรียกว่านิวเคลียส ซึ่งมีขนาดไม่กี่กิโลเมตร นิวเคลียสเป็นส่วนผสมของหิน ฝุ่นและน้ำแข็งที่มีสารประกอบหลายชนิด เมื่อดาวหางเดินทางมายังดวงอาทิตย์ความร้อน จะทำให้น้ำแข็งระเหิดและปล่อยก๊าซ และฝุ่นห่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่าโคมา [Coma] โคมาอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลายหมื่นกิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ปฏิกิริยา จากอนุภาคลมสุริยะจะผลักโคมา ทำให้เกิดหางยาวหลายล้านกิโลเมตร ฝุ่นที่มันทิ้งไว้ทำให้เกิดฝนดาวตก เมื่อโลกโคจร ผ่านในบริเวณนั้น

ดาวแห่งมาจากสองแหล่ง แหล่งแรกคือบริเวณที่หนาวเย็น เลยวงโคจรของดาวเนปจูน และพลูโต ซึ่งเรียกว่าแถบไคเปอร์ [Kuiper Belt] ดาวหางพวกนี้เรียกว่าดาวหางคาบสั้น [Short-Period Comet ] โคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่เกิน 200 ปี อีกแหล่งคือเมฆอ๊อต [Oort Cloud] วงแหวนซึ่งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ถึง 100,000 AU ดาวหางพวกนี้เรียกว่า ดาวหางคาบยาว [Long-Period Comet] นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบางโอกาสแรงดึงดูดจากดาวฤกษ์รบกวนทำให้ดาวหางถูกดันเข้ามาหาดวงอาทิตย์ บางดวงถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีเปลี่ยนวงโคจรให้เป็นดาวหางคาบสั้น

ส่วนฝุ่นอวกาศ [Interstellar Dust] เพิ่งเย้ายวนใจนักวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากถูกค้นพบโดยยานยูลิซิสในปี 1993 ต่อมายานกาลิเลโอ ได้ค้นพบอีกครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางสำรวจดาวพฤหัสบดี และเมื่อเร็วนี้ๆ ก็ได้มีการค้นพบว่า มีฝุ่นอวกาศ มาจากตำแหน่งของกลุ่มดาวคนยิงธนู นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฝุ่นอวกาศประกอบด้วยเคมีธาตุ ซึ่งมีจุดกำเนิดจากดาวฤกษ์ การศึกษาฝุ่นอวกาศ จะทำให้เรารู้มากขึ้นเกี่ยวกับการกำเนิดของจักรวาล
ภารกิจของสตาร์ดัสเป็นงานที่ท้าทาย การนำยานอวกาศเข้าใกล้ดาวหางในระยะไม่กี่ร้อยกิโลเมตร เป็นปัญหาใหญ่ของปฏิบัติการ เพราะยานและเครื่องมือจะเสียหาย จากการถูกอนุภาคของฝุ่นและหินจากโคมาของดาวหาง พุ่งชนด้วยความเร็ว 20,000 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์แก้ไขปัญหานี้ โดยออกแบบให้ยานมีโล่ป้องกันหรือกันชนซึ่งเรียกว่า ” Whipple Shields” [ชื่อซึ่งเป็นเกียรติ แก่ด๊อกเตอร์ เฟรด วิปเพิล ที่เสนอความคิดนี้เมื่อทศวรรษที่1950] ไว้สองแห่งคือ บริเวณแผงรับแสงอาทิตย์ และบริเวณส่วนสำคัญของยาน

 
ภาพถ่ายนิวเคลียสดาวหางวิลด์ 2 โดยยานสตาร์ดัสในระยะ 500 กิโลเมตร ภาพซ้ายมือแสดงให้เห็น พื้นผิวขรุขระเป็นหลุมบ่อบ่อ ภาพขวามือแสดงให้เห็นการปล่อยก๊าซและฝุ่นจากนิวเคลียสก่อตัวเป็นโคมา

อีกปัญหาหนึ่งคือ จะทำอย่างไรที่จะเก็บตัวอย่างอนุภาคฝุ่นให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม การจับอนุภาคฝุ่น ซึ่งแม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่า เม็ดทรายแต่มีความเร็วกว่าของกระสุนปืนไรเฟิล 6 เท่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปทรง และองค์ประกอบทางเคมีของมัน

วิธีการที่จะไม่ให้อนุภาคฝุ่นเสียหาย คือการลดความเร็วของมันโดยไม่เกิดความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์ใช้สารที่เรียกว่า แอโรเจล [Aerogel] ซึ่งพัฒนาโดยห้องทดลองจรวดขับดัน แอโรเจลได้ชื่อว่า เป็นของแข็งที่ได้รับการบันทึก จากหนังสือกินเนสบุ๊คว่า มีน้ำหนักเบาสุด สร้างจากซิลิคอน มีรูปทรงคล้ายฟองน้ำ 99.8 เปอร์เซนต์เป็นอากาศ เมื่ออนุภาคฝุ่นพุ่งชนมันจะช้าลงและค่อยๆ หยุดลง

แอโรเจลถูกติดไว้บนเครื่องมือดักจับอนุภาคฝุ่นรูปทรง คล้ายแร็กเก็ตเทนนิสมีพื้นที่ 1000 ตารางเซนติเมตร มันจะกางออก เมื่อปฏิบัติการ ด้านหนึ่งสำหรับใช้ดักจับอนุภาคจากดาวหางวิลด์ 2 และอีกด้านใช้สำหรับดักจับฝุ่นอวกาศ


ด๊อกเตอร์ ดอน บราวน์ลี จากมหาวิทยาลัย วอชิงตัน ซีแอตเติล หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ โครงการสตาร์ดัสบอกว่า “ ตัวอย่างฝุ่น ที่เราจะเก็บมีขนาดเล็กมาก ขนาด 10-300 ไมครอนเท่านั้น แต่ก็เพียงพอ แก่การศึกษาในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ชั้นเยี่ยม”

การเลือกวิลด์ 2 เป็นเป้าหมาย ของสตาร์ดัส เพราะมันมีวงโคจรที่ไม่ใกล้ดวงอาทิตย์เกินไป และเพิ่งโคจรอบดวงอาทิตย์ได้เพียง 5 รอบเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า มันไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากดวงอาทิตย์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบดั้งเดิม ของมัน ต่างกับดาวหางฮัลเลย์ ที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากและโคจรรอบดวงอาทิตย์มาแล้วกว่า 100 รอบ



วิลด์ 2 ถูกค้นพบ โดยนักดาราศาสตร์ชาวสวิสเมื่อปี 1978 มีขนาดความกว้าง 5.4 กิโลเมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์ 6.39 ปี ระยะทางใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่ประมาณวงโคจรของดาวอังคาร ไกลสุดประมาณวงโคจรของดาวพฤหัสบดี

การเดินทางไปยังดาวหางวิลด์ 2 สตาร์ดัสจะต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี 3 รอบ และอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก เหวี่ยงมันด้วย เส้นทางโคจรในรอบที่สองจะตัดกับเส้นทางโคจรของดาวหางวิลด์ 2

เดือนเมษายน ปี 2002 สตาร์ดัสเดินทางได้ไกลกว่า 2 พันล้านกิโลเมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ 1 รอบครึ่ง วันที่ 18 เมษายน มันอยู่ในตำแหน่งที่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด ที่เรียกว่า Aphelion ที่ 2.72 AU หรือ 407 ล้านกิโลเมตร ใกล้จุดกึ่งกลาง ของแถบ ดาวเคราะห์น้อย ทำให้สตาร์ดัสกลายเป็นยานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำสถิติเดินทางได้ไกลที่สุด

สตาร์ดัสเก็บฝุ่นอวกาศครั้งแรก ตั้งปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2000 และครั้งที่สองตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ปี 2002 เครื่องมือสองชนิดของยาน คือ A Dust Flux Monitor Instrument [DFMI] ทำหน้าที่ตรวจจับอนุภาคของฝุ่นอวกาศ และส่งข้อมูลมายังโลก และ A Cometary and Interstellar Analyzer

Instrument [CIDA] ทำหน้าวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่น แต่ทั้งหมดนี้จะถูกส่งมาวิเคราะห์ยังโลกเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2002 สตาร์ดัสบินผ่านดาวเคราะห์น้อย แอนนีแฟรงค์ [Annefrank] ที่ระยะ 3300 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์ถือโอกาสนี้ให้ยานปฏิบัติการซ้อมใหญ่โดยทดสอบเครื่องมือทุกชนิดซึ่งปฎิบัติงานได้ผลดีรวมทั้งการคุมภาคพื้นดินด้วย

หลังจากเดือนทางมาเกือบ 5 ปี ด้วยระยะทาง 2 พันล้านไมล์ วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2003 กล้องนำร่องของยานสตาร์ดัส ก็จับภาพแรกของดาวหางดวงนี้ ได้ที่ระยะห่าง 15 ล้านไมล์

วิลด์ 2 เป็นจุดเล็กๆ สลัวเกินกว่าที่สายตามนุษย์จะมองเห็นได้ถึง 1500 เท่า แวดล้อมด้วยดาวฤกษ์สามดวง ท่ามกลาง ความมืดมิดของอวกาศ

“คริสต์มาส ปีนี้ช่างมาเร็วเสียจริง” ทอม ดักเบอรี ผู้บริหารโครงการสตาร์ดัสของห้องทดลองจรวดขับดัน [Jet Propulsion Laboratory] กล่าวด้วยความปิติยินดี เพราะการเห็นวิลด์ 2 ล่วงหน้าก่อนกำหนดเดิมถึงสองสัปดาห์เช่นนี้ มีความสำคัญ ต่อการนำยานเข้าประชิด

การหาเส้นทางการโคจรของดาวหางเป็นงานที่ยากยิ่ง ดาวหางไม่ได้เหมือนกับเทหวัตถุอื่น ขณะที่มันเดินทางในระบบสุริยะ วงโคจรของมัน ไม่ได้ขึ้นอยู่แรงโน้มถ่วงเท่านั้น แต่ก๊าซและฝุ่นที่หางของมันมีผลต่อวงโคจร ซึ่งยากต่อการทำนายที่แม่นยำ

ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของยานสำรวจดาวหางจึงขึ้นอยู่กับระบบการนำร่อง
ด๊อกเตอร์ ไชแอม บาสคาแรน ผู้ควบคุมปฏิบัติการนำร่องกล่าวว่า “เมื่อฉันเห็นภาพนี้ครั้งแรก ฉันไม่อยากจะเชื่อเลย เราไม่ได้คาดหวังว่า จะเห็นมันล่วงหน้าเกินกว่าสองอาทิตย์ก่อนกำหนดการเข้าประชิด แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วและ มันใกล้มากกว่า ที่เราคิดไว้ด้วย “

ด้วยภาพดังกล่าว บาสคาแรน คาดว่าจะสามารถนำยานเข้าประชิดดาวหางวิลด์ 2 ได้ในระยะ 300 กิโลเมตร และบอกว่า ถ้าหากไม่มีภาพนี้การนำยานเข้าใกล้ดาวหางอย่างปลอดภัยจะอยู่ในระยะมากกว่าหลายพันกิโลเมตร ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ปฏิบัติการนี้อาจล้มเหลว

เมื่อกำหนดการเข้าประชิดดาวหางวิลด์ 2 มาถึงในวันที่ 2 มกราคม 2004 สตาร์ดัสทำได้ดีกว่าที่นักวิทยาศาสตร์หวังไว้เสียอีก มันบินผ่านวิลด์ 2 ที่ระยะทางห่างจากนิวเคลียสเพียง 240 กิโลเมตรเท่านั้นและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในเก็บตัวอย่าง อนุภาคฝุ่นที่พุ่งออกจากโคมาของวิลด์ 2 “ทุกๆอย่างเกิดขึ้นอย่างสวยงามมากภายในชั่วครู่เท่านั้น” ทอม ดักเบอรี กล่าวชื่นชมในความสำเร็จ

นอกเหนือจากการเก็บฝุ่นของดาวหาง สตาร์ดัสยังสร้างเซอร์ไพรท์ด้วยการถ่ายภาพที่คมชัด ของดาวหางดวงนี้จำนวน 72 ภาพ จนนักวิทยาศาสตร์บอกว่า มันเป็นภาพที่ดีที่สุดของดาวหางเท่าที่ถ่ายมาเลยทีเดียว ”ภาพเหล่านี้เป็นภาพดาวหางที่ดีที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมา” ดอน บราวน์ลี กล่าว

ภาพแรก ซึ่งถ่ายในระยะ 500 กิโลเมตร เผยให้เห็นพื้นผิวของนิวเคลียสที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อเหมือนข้าวตัง ดอน บราวน์ลี และเรย์ นิวเบิร์นเพื่อนร่วมทีม เชื่อว่าหลุมบ่อเหล่านี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการโดนชน แต่มันเป็นผลของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ของแข็งของนิวเคลียส ให้เป็นก็าซและฝุ่นหรือโคมาซึ่งล้อมรอบนิวเคลียส ภาพเดียวกันในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง แสดงให้เห็นกระแสก๊าซ และฝุ่นที่พุ่งออกจากนิวเคลียสและก่อตัวเป็นโคมา
ทีมนักวิทยาศาสตร์โครงการสตาร์ดัส เชื่อลึกๆ ว่า ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่น ที่ได้มาจะเปิดเผยความลับ ไม่เพียงเฉพาะ ของดาวหาง แต่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงแรก ของการกำเนิดระบบสุริยะด้วย

สตาร์ดัสจะเดินทางกลับถึงโลก ในเดือนมกราคม ปี 2006 ตัวอย่างฝุ่นซึ่งบรรจุอยู่ในแคปซูล จะถูกปล่อยลงสู่พื้นโลกโดยร่มชูชีพ ณ ฐานทัพอากาศในรัฐยูทาห์ และจะถูกส่งไปเก็บ และวิเคราะห์ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน ฮุสตัน เท็กซัส

โดย
บัณฑิต คงอินทร์
kbandish@ratree.psu.ac.th
เว็บดาราศาสตร์.คอม

ยานอวกาศ สมาร์ท 1 (SMART-1)


ภาพจาก http://www.rm.iasf.cnr.it/Smart1/smart101l.jpg

เป็นเวลากว่า30 ปี แล้วที่นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศยานอพอลโล 11 เหยียบดวงจันทร์และนำหินจากดวงจันทร์กลับโลก ปฎิบัติการของยานอพอลโล 11 และยานอพอลโลอีกหลายลำ ได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่มนุษย์ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับบริวารของโลกดวงนี้ที่มนุษย์ยังคงไม่รู้ อาทิเช่นดวงจันทร์มีจุดกำเนิดอย่างไร และอิทธิพลของมันที่มีต่อวิวัฒนาการของโลก ดวงจันทร์จึงยังคงมีเสน่ห์เย้ายวนใจนักวิทยาศาสตร์อยู่ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ดวงจันทร์จึงกำลังถูกเยี่ยมเยียนอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นยานอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป และนับเป็นครั้งแรกที่องค์การอวกาศยุโรปส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจนี้เริ่มขึ้นเมื่อจรวดแอเรียน – 5 นำยานสมาร์ท 1[SMART-1] มูลค่า 110 ล้านยูโรขึ้นสู่อวกาศ ณ สเปซพอร์ต เมือง เฟรนช์เกียนา (ดินแดนของฝรั่งเศสล) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2003

การเดินทางเริ่มต้นด้วยดี “สมาร์ท- 1ขึ้นสู่อวกาศ อย่างสวยงามจริงๆ” เบอร์นาร์ด โฟอิ้ง นักวิทยาศาสตร์ของโครงการสมาร์ท – 1 กล่าว ”เราจะใช้เวลาเดินทาง ประมาณ16-18 เดือน ตามแผนจะถึงดวงจันทร์ในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนหรือธันวาคม ปี 2004 ต่อจากนั้นยานจะโคจรรอบดวงจันทร์”

สมาร์ท-1 จะทำแผนที่ดวงจันทร์และค้นหาน้ำ โดยใช้เวลาปฎิบัติการ 2 ปี ยานมีเครื่องมือหลักๆสามชนิด
ชนิดแรกคือกล้องถ่ายภาพในระดับคลื่นแสงที่สายตามนุษย์มองเห็น พื้นเป้าหมายพิเศษของมันคือบริเวณที่เรียกว่า “Peak of Eternal Light” ยอดเขาซึ่งอาบไปด้วยแสงอาฑิตย์แต่บริเวณรอบๆซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตกลับมืดทึบ
เครื่องมือชนิดที่สองคือ Infrared Spectrometer[SIR] สำหรับค้นหาน้ำบริเวณหลุมอุกกาบาตที่สลัวๆใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ และถ่ายภาพทำแผนที่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับปฎิบัติการขององค์การนาซ่าที่จะส่งหุ่นยนต์ลงสำรวจในบริเวณนี้ในอนาคต

เครื่องมือชนิดที่สามคือ X-Ray Spectrometer หรือ D-CIXS สำหรับใช้หาข้อมูลองค์ประกอบทางธรณีของพื้นผิวซึ่งจะบอกความลับที่นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ว่าดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำไปทดสอบกับภารกิจของสมาร์ท-1นั่นคือ ระบบนำร่องที่สามารถนำยานเดินทางไปในระบบสุริยะได้อย่างอัตโนมัติ

มานูเอล กรังด์ แห่งห้องปฎิบัติการแอ็บพลีตัน รัตเตอร์ฟอร์ด หัวหน้าทีมผู้พัฒนา D-CIXS บอกว่า แม้ว่าได้มีการศึกษาวิจัยดวงจันทร์มาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่ได้ค้นพบอะไรมากมายที่บอกว่าดวงจันทร์ประกอบด้วยอะไรบ้าง “ปฎิบัติการของยานอพอลโลเป็นการสำรวจเฉพาะบริเวณเส้นศูนย์สูตรและเป็นด้านที่ดวงจันทร์หันเข้าหาโลกเท่านั้น ขณะที่ยานอื่นๆก็เพียงแค่สำรวจสีของพื้นผิวและค้นหาธาตุหนักๆ แต่ D-CIXS จะทำแผนที่ธาตุต่างๆบนพื้นผิวทั้งหมดซึ่งประกอบขึ้นมาเป็นดวงจันทร์” กรังด์กล่าว

ภารกิจของสมาร์ท-1ไม่เพียงแต่จะทำให้มนุษย์รู้จักดวงจันทร์มากขึ้นเท่านั้น สำหรับองค์การอวกาศยุโรปแล้วมันสำคัญมากกว่านั้น เพราะสมาร์ท-1จะนำมาซึ่งการปฎิวัติเทคโนโลยียานอวกาศซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมิชชั่นนี้ และจะเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ขององค์การอวกาศยุโรปเลยทีเดียว เพราะมันเป็นการทดสอบยานอวกาศต้นแบบของยานอวกาศในอนาคต

ระบบขับเคลื่อนหรือเครื่องยนต์จรวดของยานอวกาศนับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงเคมีซึ่งใช้ระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิง ยานจึงมีขนาดใหญ่เพราะต้องใช้เนื้อที่สำหรับบรรจุเชื้อเพลิงมาก มันจึงเป็นข้อจำกัดในด้านความเร็วของยานและพิสัยปฎิบัติการ และยังทำให้สูญเสียเนื้อที่สำหรับเครื่องมือวิทยาศาสตร์อีกด้วย ที่สำคัญมันมีค่าใช้จ่ายสูง นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสำหรับยานอวกาศที่เร็วกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรกำลังวิจัยและพัฒนายานอวกาศในอนาคตอยู่หลายแบบ อาทิเช่น ยานโซลาเซล[Solar Sail ] หรือเรือใบอวกาศในจินตนาการของมนุษย์เมื่อหลายร้อยปีก่อน เคลื่อนที่ได้โดยโฟตอนซึ่งเป็นอนุภาคของแสงกระทบแผงเซลเกิดพลังงานหรือโมเมนตัมผลักแผงเซลให้เคลื่อนที่ซึ่งดันยานอวกาศอีกต่อหนึ่ง

ยานที่ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งองค์การนาซ่ากำลังพัฒนาภายใต้โครงการ Prometheus ยานต้นแบบลำแรกของโครงการนี้ จะปฎิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีในทศวรรษหน้า มีชื่อปฎิบัติการว่า The Jupiter Icy Moons Orbiter Mission [JIMO] ยานอีกแบบที่มีความเป็นไปได้สูงคือยานที่ใช้เครื่องยนต์ไอออน หรือ A solar-electric propulsion system มันเป็นระบบขับเคลื่อนชนิดหนึ่งที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยการแปลงแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าผ่านแผงรับแสงอาทิตย์ และใช้กระแสไฟฟ้าไปชาร์จอะตอมของก็าซทำให้เกิดแรงขับยานไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง

ระบบเครื่องยนต์ไอออนมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์จรวดที่ใช้กันอยู่ถึง 10 เท่า มันจะไม่เผาไหม้เชื้อเพลิงเหมือนเครื่องยนต์จรวด จึงใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่า การใช้เชื้อเพลิงน้อยทำให้น้ำหนักยานน้อย และมีที่ว่างสำหรับเครื่องมือวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในขณะที่ความก้าวหน้าของการพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์จะทำให้เครื่องมือวิทยาศาสตร์มีขนาดเล็กลงด้วย แต่เครื่องยนต์ไอออนก็มีข้อจำกัดที่ใช้แสงอาทิตย์ มันจึงไม่สามารถเดินทางไปสำรวจบริเวณห่างไกลที่ได้รับแสงอาทิตย์อ่อนๆได้ เช่น บริเวณแถบคอยเปอร์ หรือไกลไปกว่านั้น

อย่างไรก็ดีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จะเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้ความเป็นไปได้สำหรับการสร้างยานอวกาศในอนาคต จะอยู่ภายใต้แนวคิดยานขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มีต้นทุนการสร้างต่ำ จึงเป็นไปได้สูงที่ยานอวกาศเครื่องยนต์ไอออนจะรับภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ ดาวหางและดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะแทนที่เครื่องยนต์จรวดในเวลาอีกไม่นานนัก สำหรับบริเวณอวกาศที่ไกลไปกว่านั้น จะเป็นภารกิจของยานอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์

การพัฒนายานอวกาศเครื่องยนต์ไอออนเริ่มโดยองค์การนาซ่าเมื่อหลายปีมาแล้ว ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1994 ยานดีฟสเปซ-1 ขององค์การนาซ่าออกเดินทางไปสำรวจดาวหางบอร์เรลลี ไกล 200 ล้านกิโลเมตร เป้าหมายหลักของภารกิจนี้คือ การทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ12ชนิด รวมทั้งเครื่องยนต์ไอออนที่ใช้ขับเคลื่อนยานลำนี้ ปฎิบัติการของยานดีฟสเปซ 1 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ภารกิจสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2001 ข้อมูลที่ได้จากดาวหางเป็นเพียงโบนัสของปฎิบัติการนี้เท่านั้น

ดีฟสเปซ 1 เป็นยานต้นแบบลำแรกของโครงการThe New Millennium Program ขององค์การนาซ่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับยานอวกาศในอนาคต แนวคิดหลักคือการลดขนาดของยานอวกาศเพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างยานให้มีความฉลาดที่จะปฎิบัติการได้โดยตัวมันเองโดยถูกควบคุมจากมนุษย์น้อยที่สุด นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการลดค่าใช่จ่ายมหาศาลทั้งตัวยานและเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดินด้วย

องค์การอวกาศยุโรปก็มีโครงการวิจัยเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ๆ ที่จะทำการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคตเช่นเดียวกับองค์การนาซ่า สมาร์ท-1 เป็นปฎิบัติการแรกของโครงการนี้ มันเป็นยานอวกาศที่ใช้เครื่องยนต์ไอออนเช่นเดียวกับยานดีฟสเปซ-1 และกำลังถูกทดสอบกับปฎิบัติการสำรวจดวงจันทร์
หากภารกิจของสมาร์ท-1 ประสบความสำเร็จด้วยดี เราคงจะเห็นองค์การอวกาศยุโรปส่งยานอวกาศเครื่องยนต์ไอออนไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้



ข้อมูลจาก
ดาราศาสตร์.คอม

ยานอวกาศ Shenzhou

ยานอวกาศ Shenzhou

ถ้าเป็นไปตามความคาดหมายของผู้เชี่ยวชาญการศึกษากิจการอวกาศของจีน จีนกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ โดยการส่งนักบินอวกาศคนแรก ขึ้นไปในอวกาศกับยานเสินโจว 5 ในราวกลางเดือนตุลาคม ศกนี้

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวว่า การเตรียมการส่งยานอวกาศเที่ยวบินประวัติศาสตร์นี้ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าจะยังไม่กำหนดวันเวลาในการส่งยานอวกาศที่แน่นอนก็ตาม หากจีนประสบความสำเร็จนั่นก็หมายความว่า จีนได้แซงหน้าองค์การอวกาศยุโรปและญี่ปุ่นที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปกับยานอวกาศที่สร้างขึ้นเองได้ แผนงานต่อไปของจีนคือ การส่งยานที่ไม่มีนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สร้างสถานีอวกาศและส่งนักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ในปี 2020 ปีเดียวกันกับองค์การนาซ่าจะส่งมนุษย์อวกาศเหยียบดาวอังคาร
นอกจากนั้นจีนยังมีแผนความร่วมมือทางอวกาศกับองค์การนาซ่าของสหรัฐและรัสเซีย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนกับรัสเซียก็ได้กำหนดแนวทางในการสำรวจอวกาศร่วมกันในอนาคตไปแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายนจีนก็ได้บรรลุข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการดาวเทียมนำร่อง ”กาลิเลโอ” กับประเทศในกลุ่มอียูซึ่งมี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอิตาลี เป็นหุ้นส่วนใหญ เป็นที่คาดหมายกันว่าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางอวกาศ ชาติที่สามของโลกต่อจาก รัสเซียและสหรัฐอเมริกาในเวลาอีกไม่นานนัก ในขณะที่อินเดียก็กำลังพัฒนางานด้านอวกาศไล่กวดตามมาติดๆ โดยอินเดียเพิ่งประกาศว่า จะส่งยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ในปี 2008 โรเจอร์ ลอนเนียส หัวหน้าแผนกประวัติศาสตร์อวกาศ ของพิพิธภัณฑ์อวกาศและการบินแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียนบอกว่า “ผมตื่นเต้นที่มีชาติที่สามลงทุนส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศ และในไม่ช้านี้ก็จะร่วมมือ กับสหรัฐและรัสเซียในการทดลองใหญ่ๆ มันชัดเจนว่าจีนกำลังแสวงหาการแสดงออกให้โลกได้รับรู้ถึงพลังอำนาจของประเทศจากปฏิบัติการนี้”

แต่ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศของจีนไม่เพียงแต่ทำให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกจับตามองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จีนยังถูกมองอย่างกังวลใจว่าอาจจะมีเป้าหมาย ทางทหารอยู่ด้วย นักการทหารของชาติมหาอำนาจตะวันตกเชื่อว่าแรงจูงใจสำคัญ ในการพัฒนาด้านอวกาศของจีนมาจากเป้าหมายทางการทหาร รายงานประจำปีของThe US Department of Defense กระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือเพนตากอนชื่อว่า The Military Power of The People’s Republic of China ที่เสนอต่อสภาคองเกรสเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พุ่งประเด็นไปที่สถานะปัจจุบันและ ความเป็นไปได้ของความเติบโตในด้านเทคโนโลยีทางการทหารของจีนในอนาคต ซึ่งรวมทั้งการใช้อวกาศเพื่อประกันความได้เปรียบทางการทหารด้วย “ปักกิ่งอาจจะมีเครื่องมือเลเซอร์พลังงานสูงในครอบครอง ซึ่งสามารถใช้พัฒนาอาวุธเลเซอร์ภาคพื้นดินสำหรับต่อกรกับดาวเทียมติดอาวุธ” รายงานดังกล่าวระบุ


โครงการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศของจีนมีชื่อว่าโปรเจ็ค 921ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อปี 1992 โครงการนี้มีองค์กรในภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมมากกว่า 3000 องค์กร และมีนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งเทคนิเชี่ยนเข้าร่วมจำนวนหลายหมื่นคน นับตั้งแต่ปี 1993 ถึงต้นปี 2003 จีนประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโครงการนี้ โดยสามารถส่งยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศไปโคจรรอบโลกมาแล้ว4 ลำ คือ ยานเสินโจว 1-4 เทคโนโลยีของจีนก้าวหน้ามากทีเดียว นักวิทยาศาสตร์จีนทดสอบการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศในยานเสินโจว โดยใช้หุ่นจำลองมนุษย์ที่เรียกว่าไทโคบอท[Taiko Bot] แทนที่จะใช้สัตว์ทดลองเหมือนยุคแรกเริ่มของรัสเซียและสหรัฐ
ปฎิบัติการครั้งสุดท้ายกับยาน เสินโจว 4 ทำความมั่นใจให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของโครงการอย่างมาก เสินโจว 4 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2002 มันโคจรรอบโลกได้นาน 1 สัปดาห์ และสามารถปล่อยแคปซูลซึ่งเป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศลงสู่พื้นโลก บริเวณทุ่งหญ้าในมองโกเลียได้อย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์จีนก็คิดว่าการส่งยานเสินโจว 5 ยังเป็นความกดดันพวกเขาอยู่ หวัง ชุนผิง หัวหน้าทีมควบคุมการปล่อยจรวดลองมาร์ช 2 F บอกว่า มันเป็นความกดดันที่สูงมากทีเดียวที่จะประกันความพร้อมในการส่งยาน ขณะที่รัสเซียและสหรัฐเคยทดสอบการปล่อยจรวดที่ไม่มีนักบินอวกาศนับสิบครั้ง ก่อนที่ส่งนักบินอวกาศคนแรกขึ้นไปในอวกาศ ตรงข้ามกับจีนซึ่งมีประสบการณ์เพียงสี่ครั้งเท่านั้น จรวดที่ใช้ส่งยานเสินโจวคือ จรวด เฉินเจี้ยน-ลองมาร์ช 2 F หนึ่งในแปดแบบของจรวดตระกูลลองมาร์ช ซึ่งจีนพัฒนาสำหรับใช้ส่งดาวเทียมและยานอวกาศ ลองมาร์ช 2F เป็นจรวดที่ทันสมัยที่สุด มันถูกพัฒนาระบบนำทางและระบบควบคุม รวมทั้งอัพเกรดเครื่องยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ ส่วนยานเสินโจวนั้นมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับยานโซยูซของรัสเซีย แต่จีนใช้เทคโนโลยีของตนเอง


เสินโจว 5 ประกอบด้วย 3 โมดูล
โมดูลแรกอยู่ด้านหน้า เป็นส่วนของเครื่องมือวิทยาศาสตร์
โมดูลที่สองอยู่ตรงกลางเป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศซึ่งออกแบบไว้สำหรับนักบินอวกาศจำนวนสามคน
โมดูลที่สามอยู่ด้านท้ายคือโมดูลบริการ ซึ่งมีแผงรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ อีเลคโทรนิคเกียร์และเครื่องยนต์ของยาน


ฟิลลิป คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญกิจการอวกาศของจีนและรัสเซียเชื่อว่ายานเสินโจวมีความปลอดภัยมากกว่ายานโซยูซ และคิดว่าเที่ยวบินของเสินโจว 5 จะสวยงามและเรียบง่าย จรวดลองมาร์ช 2F จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ณ ศูนย์ส่งดาวเทียมและยานอวกาศจิวฉวน จังหวัดกานซู และแคปซูลของยานอวกาศจะลงสู่พื้นโลกบริเวณทุ่งหญ้าในมองโกเลีย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จีนมีแผนที่จะเชื่อมต่อยานเสินโจวสองลำในอวกาศ และหลังจากภารกิจของยานเสินโจว 5 สิ้นสุดลง เป็นไปได้ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี จีนอาจจะส่งยานเสินโจวที่นำนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศอีก 2 ลำ โดยยานแต่ละลำจะมีนักบินอวกาศหลายคน ปฎิบัติการของยานเสินโจวจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากทีเดียว


ที่มา
http://www.darasart.com/spacecraft/main.htm

ยานอวกาศ (Space Craft)

ยานอวกาศ (Space Craft)

เทคโนโลยี่ด้านอวกาศของมนุษย์ชาติเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการคิดค้นพัฒนายานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เดินทางได้ไกลขึ้น และใช้พลังงานน้อยลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนายานอวกาศก็คือความเร็ว ซึ่งยังทำได้จำกัดอยู่มากทำให้การเดินทางแต่ละครั้งอาจจะกินเวลานานเป็นเดือนๆ ทำให้เราไม่สามารถส่งมนษย์เดินได้ไกล จึงมีการแบ่งกลุ่มของยานอวกาศออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ

1) ยานอวกาศที่มีมนุษย์บังคับ ซึ่งจะเดินทางในช่วงเวลาสั้นๆเช่นโคจรรอบโลกเป็นต้น ปัจจุบันมนุษย์เดินทางไปในอวกาศได้ไกลสุดเพียงดวงจันทร์เท่านั้น

2) ยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์บังคับ เนื่องจากการสำรวจบางครั้งต้องใช้เวลาเดินทางไกลมากและลำบากเกินกว่าที่มนุษย์จะรับได้ เนื่องจากต้องคำนึงระบบช่วยชีวิตด้วย จึงเป็นหน้าที่ของยานที่ถูกบังคับจากภาคพื้นดินบนโลก บางที่เราเรียกยานแบบนี้ว่า Robot Scpace Craft

ปัจจุบันมีโครงการอวกาศของแต่ละประเทศที่ดำเนินการอยู่ ทั้งของสหรัฐ (Nasa) รัสเซีย ยุโรป (ESA) และ ญี่ปุ่น (JAXA) มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจมากมาย โดยจะแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มคือ

ดวงจันทร์ เป็นยานอวกาศที่มีการส่งไปสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ยุคแรกๆ เพื่อเป็นการเตรียมแผนให้กับการลงเหยียบดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโล่ และ โครงการสำรวจดวงจันทร์ยุคหลังอะพอลโล่

ระบบสุริยะ เป็นยานสำรวจนอกเหนือจากดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวง เช่น ยานสำรวจดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์น้อย และ ดาวหาง

ดาวเคราะห์ เป็นยานสำรวจดาวเคราะห์ทั้ง 8 ดวง ซึ่งโครงการไปดาวอังคารเป็นโครงการที่มีการส่งยานไปมากที่สุด

ยานอวกาศ ที่มีมนุษย์บังคับ

Gemini
Mercury
Apollo
Soyuz
SpaceShuttle
Shenzhou


ยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์บังคับ

กลุ่มดวงจันทร์
Luna Project
Luna Oribital
Luna Prospector
Clementine
Smart-1


กลุ่มระบบสุริยะ
Ulysses
SOHO
DeepImpact
Rosetta
Genesis
StarDust
Hayabusa
Cosmos1
Dawn
Vega
Giotto
Near


กลุ่มดาวเคราะห์
(Planet)
Mariner
Pioneer
Magellan
Venera
Voyager
Viking
Mars Project
Galileo
Cassini-Huygen
Messenger
New Horizon


ในอนาคต
Orion
ATV

ที่มา
เว็บดาราศาสตร์ดอทคอม

กล้องอวกาศ (Space Telescope)

กล้องอวกาศ (Space Telescope)

วัตถุท้องฟ้าต่างๆที่อยู่นอกโลกเรานั้น นอกจากเราจะรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสของตา ที่เราเรียกว่า ช่วงคลื่นตามองเห็น (Visible Light) จาก Chat ข้างบนจะเห็นว่ามีความกว้าง (Band Width) แคบมากๆ ดังนั้นการรับรู้ด้วยประสาทตาจึงแคบเกินไป เพราะปกติวัตถุท้องฟ้าจะมีการแพร่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาหลายช่วงความถี่ ตั้งแต่ต่ำมากๆในระดับคลื่นวิทยุ เช่นพวก พัลซ่าร์ ซึ่งเรารับรู้ได้โดยการติดตั้งจานรับสัญญาณขนาดใหญ่บนภาคพื้นดิน หรือสูงขึ้นมาอีกหน่อย ก็พวกคลื่นไมโครเวฟ หรือ Infrared หรือรังสีใต้แดง รังสี Ultraviolet หรือรังสีเหนือม่วง รังสีเอ็กซ์ และรังสีแกรมม่า

เนื่องจากรังสีที่กล่าวมานี้ จะถูกกั้นไว้ด้วยชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อป้องกันอันตรายที่จะมาทำลายสิ่งมีชีวิต เพราะรังสีเหล่านี้มีพลังงานสูงมาก นั่นเป็นข้อดีของชั้นบรรยากาศโลก แต่ก็เหมือนดาบสองคม ข้อเสียที่ตามมาคือ ทำให้เราไม่สามารถรับรู้รังสีช่วงคลื่นเหล่านั้นจากนอกโลกได้ เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ทางแก้อย่างเดียวคือต้องส่งอุปกรณ์ขึ้นไปตรวจจับนอกชั้นบรรยากาศโลก ทำให้มีโครงการกล้องอวกาศขึ้น

กล้องอวกาศตัวแรกที่ถูกใช้งานบนวงโคจรก็คือ ATM หรือ Apollo Telescope Mount ซึ่งติดตั้งไว้บนสถานีอวกาศสกายแล็บ และต้องเลิกใช้ไปเมื่อเสร็จภาระกิจของสกายแล็บ เมื่อปีพศ.2522

หลังจากนั้นก็มีการส่งกล้องอวกาศขึ้นไปวงโคจรอีกในรูปแบบของดาวเทียม เพื่อความคล่องตัวในการควบคุม และที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดก็คือกล้องอวกาศฮับเบิล และตามมาด้วยจันทราเอ็กซ์เรย์ และ สปิตเซอร์ ด้วยความสำเร็จและประสิทธิภาพของกล้องอวกาศรุ่นก่อนๆ ทำให้มีโครงที่จะส่งกล้องอวกาศขึ้นสู่วงโคจรอีกมากมาย


ที่มา
http://www.darasart.com/spacetelescope/main.htm