วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

24 ก.ย.ดาวเทียมเก่านาซาจะหล่นใส่โลก แต่ไม่รู้จุดไหน

24 ก.ย.ดาวเทียมเก่านาซาจะหล่นใส่โลก แต่ไม่รู้จุดไหน


ภาพดาวเทียมยูเออาร์เอสขณะอยู่ในวงโคจรเมื่อปี 2534 ซึ่งบันทึกโดยลูกเรือกระสวยอวกาศดิสคัสเวอรี (เอเอฟพี/นาซา)


ดาวเทียมเก่าอายุ 20 ปีและหนักกว่า 5 ตันของนาซาได้หลุดจากวงโคจรและจะหล่นสู่โลกราวๆ วันที่ 24 ก.ย.นี้ในบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะระบุตำแหน่งที่แน่ชัดก่อนดาวเทียมพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่องค์การอวกาศสหรัฐฯ ยืนยันโอกาสเกิดอันตรายต่อคนบนโลกมีเพียง 1 ใน 3,200

ทั้งนี้ ดาวเทียมศึกษาบรรยากาศชั้นบนยูเออาร์เอส (UARS: Upper Atmosphere Research Satellite) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งมีอายุ 20 ปีและหนักถึง 5 ตันได้หลุดจากวงโคจรและหล่นสู่พื้นโลกราวๆ วันที่ 24 ก.ย.54 ตามคาดการ์ณของนาซา โดยพื้นโลกที่ดาวเทียมจะตกลงมานั้นอยู่ระหว่าง 57 องศาเหนือและ 57 องศาใต้ของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่

อย่างไรก็ดี ดาวเทียมดังกล่าวจะเผาไหม้และแตกสลายไปมากแล้วก่อนตกสู่พื้นโลก ซึ่งตามรายงานของบีบีซีนิวส์นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีชิ้นส่วนจากดาวเทียมดังกล่าว 26 ชิ้นตกสู่พื้นโลก และตกกระจายกินพื้นที่กว้าง 400-500 กิโลเมตร ซึ่งทางนาซาเผยว่านักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่ซากดาวเทียมจะตกได้ล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมงก่อนดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

ดาวเทียมดังกล่าวมีโอกาสทำอันตรายประชาชนถึง 1 ใน 3,200 ซึ่งสูงกว่าขีดกำจัดที่นาซากำหนดไว้คือ 1 ใน 10,000 แต่นาซาแจงต่อสื่อมวลชนว่าไม่มีใครที่ได้รับบาดเจ็บจากวัตถุอวกาศที่ตกกลับสู่พื้นโลก นอกจากนี้ประาชนทั่วไปยังไม่สามารถเก็บชิ้นส่วนดาวเทียมที่ตกลงมาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวหรือแม้แต่ประมูลขายผ่านทางเว็บไซต์อีเบย์ (eBay) เนื่องจากเศษซากเหล่านั้นยังคงเป็นสมบัติของรับบาลสหรัฐฯ

ดาวเทียมยูเออาร์เอสนั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2534 โดยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ของนาซา และหยุดทำงานเมื่อปี 2548 อย่างไรก็ดี ดาวเทียมที่จะตกสู่พื้นโลกนี้ยังมีขนาดน้อยกว่าสกายแล็บ (Skylab) สถานีอวกาศของสหรัฐฯ ซึ่งตกสู่โลกเมื่อปี 2522 โดยสถานีอวกาศดังกล่าวหนักกว่าดาวเทียมดวงนี้ถึง 15 เท่า และตกสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดแก่รัฐบาลออสเตรเลีย


ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000118860

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ฟองน้ำ” เครื่องกรองน้ำชีวภาพในทะเล

ฟองน้ำ” เครื่องกรองน้ำชีวภาพในทะเล
ฟองน้ำ (Sponges) อยู่ใน Phylum Porifera เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังโบราณที่มีโครงสร้างร่างกายแบบง่ายๆ เนื่องจากการเรียงตัวของเซลล์แบบหลวมๆ และไม่มีลักษณะของเนื้อเยื่อที่แท้จริง ลำตัวเป็นรูพรุนและมีท่อน้ำกระจายอยู่ทั่วตัว โครงร่างของร่างกาย (Skeleton) ประกอบด้วยหนามฟองน้ำ (Spicules) หร
ือเส้นใยฟองน้ำ (Spongin fibers) หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งฟองน้ำจะเกาะติดอยู่กับที่ตามพื้นทะเล

ฟองน้ำมีสมาชิกทั้งโลกอยู่ประมาณ 7,000 ชนิด พบอาศัยอยู่ในน้ำจืดและทะเล แต่จะพบในทะเลมากกว่าร้อยละ 98 สำหรับประเทศไทยแล้ว คาดว่าจะมีสมาชิกอยู่ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด

ฟองน้ำเป็นสัตว์ที่กินอาหารโดยการกรอง (Filter feeder) โดยมีระบบท่อน้ำที่ประกอบด้วยท่อเล็กๆ ตามลำตัวเป็นท่อน้ำเข้า (Ostia) ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำทะเลเข้าสู่ตัวฟองน้ำ โดยอาศัยการพัดโบกของเซลล์พิเศษ (Choanocytes) ที่มีปลอกคอและแส้ ทำให้เกิดกระแสน้ำไหลเข้าสู่ตัว เซลล์พิเศษเหล่านี้ทำหน้าที่จับอาหารและออกซิเจนไว้หายใจ ส่วนน้ำที่ผ่านการกรองแล้วจะไหลออกมาทางท่อน้ำออก (Oscule) ซึ่งส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ท่อเดียว ฟองน้ำสามารถกรองน้ำทะเลผ่านตัวได้มากกว่าสิบเท่าของปริมาตรตัวเองในหนึ่งชั่วโมงและทำงานต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ฟองน้ำจึงมีบทบาทสำคัญในแง่การปรับปรุงคุณภาพน้ำทะเลให้ใสสะอาดขึ้น ลดปริมาณตะกอนสารอินทรีย์ในน้ำทะเล เปรียบเสมือนกับเครื่องกรองน้ำทางชีวภาพที่สำคัญในทะเล ฟองน้ำยังจัดเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก เช่น ฟองน้ำถ้ำบางชนิดอาจจะมีอายุยืนได้ถึง 5,000 ปี นอกจากนี้ฟองน้ำยังเป็นสัตว์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ใช้ทำความสะอาดร่างกายและครัวเรือน เป็นเครื่องสำอาง ใช้ซับเลือดทหารที่บาดเจ็บและเป็นยารักษาโรค หรือแม้แต่งานศิลปะแขนงต่างๆ

ในปัจจุบันฟองน้ำเป็นสัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจมาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เกาะติดอยู่กับที่แต่แทบจะไม่มีศัตรูมารบกวน เนื่องจากฟองน้ำสร้างอาวุธทางเคมีขึ้นมาป้องกันตัว อาวุธทางเคมีเหล่านี้คือ แหล่งสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทะเล (Marine natural products) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการศึกษาวิจัย การแพทย์และเภสัช

ฟองน้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยย่อย (Microhabitat) ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หลายชนิด เช่น กุ้ง ปู ไส้เดือนทะเล และดาวเปราะ รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมจุลชีพทางทะเลที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมายมหาศาล


ฟองน้ำสีน้ำเงิน Neopetrosia sp. พบได้ทั่วไปในแนวปะการังและสามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม

ฟองน้ำท่อพุ่มสีแดง Oceanapia sagittaria เป็นฟองน้ำที่ฝังตัวตามพื้นทราย มีอวัยวะสืบพันธุ์เป็นดอกพุ่มและมีพิษเพื่อป้องกันศัตรู ฟองน้ำชนิดนี้มีลักษณะเป็นท่อน้ำออกสูงเพื่อหลีกเลี่ยงตะกอนที่ตกทับถมลงมาบนตัว






เรื่องและภาพ : สุเมตต์ ปุจฉาการ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา


ที่มา
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2010-08-09-09-38-28/162-sponges

รายงานแมลงชีปะขาวพบครั้งแรกในประเทศไทย.....ที่ทองผาภูมิตะวันตก

รายงานแมลงชีปะขาวพบครั้งแรกในประเทศไทย.....ที่ทองผาภูมิตะวันตก



แมลงชีปะขาวจัดอยู่ในกลุ่มของแมลงอันดับอีฟีเมอรอปเทอรา (Ephemeroptera) เป็นกลุ่มแมลงน้ำที่พบอาศัยอยู่ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำไหล ใช้ชีวิตส่วนมากเป็นตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ ลักษณะเฉพาะของแมลงชีปะขาว คือ ระยะที่มีปีกมี 2 ระยะ คือ ตัวรองตัวเต็มวัย (subimago) ระยะนี้ปีกจะมีสีขุ่น ปกคลุมด้วยขนขนาดเล็ก กันน้ำได้ อวัยวะเพศยังเจริญไม่เต็มที่ จากนั้นจะลอกคราบอีกครั้งกลายเป็นตัวเต็มวัย (imago) ปีกใสเป็นเงา อวัยวะเพศเจริญเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวจะไม่กินอาหารเนื่องจากโครงสร้างของส่วนปากลดรูปไป ทำให้ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวมีอายุสั้น คือ มีอายุประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนถึง 14 วัน ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวทำหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่เท่านั้น จากนั้นจะตายไปในช่วงผสมพันธุ์


โดยทั่วไปตัวอ่อนแมลงชีปะขาวมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ บ่อ หนอง บึงที่ไม่มีหรือมีการปนเปื้อนของมลพิษน้อย จัดเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อมลพิษ ดังนั้นจึงมีการใช้ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้คุณภาพน้ำ และนิยมใช้ร่วมกับตัวอ่อนแมลงสโตนฟลาย และตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำในการประเมินคุณภาพน้ำทางชีวภาพ


จากการศึกษาความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในลำธารอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบแมลงชีปะขาวที่ยังไม่มีรายงานมาก่อนในประเทศไทย (first record) 2 ชนิด คือ Prosopistoma sinense Tong & Dudgeon, 2000 จัดอยู่ในวงศ์ Prosopistomatidae และ Epeorus tiberius Braasch and Soldan, 1984 จัดอยู่ในวงศ์ Heptageniidae

แมลงชีปะขาววงศ์ Prosopistomatidae นี้มีขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายด้วงตัวเต็มวัย เนื่องจากแผ่นอกมีขนาดใหญ่คลุมส่วนท้อง และเหงือก และพบแพนหาง 3 เส้น ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นทรายและก้อนหินขนาดเล็ก


ส่วนแมลงชีปะขาวสกุล Epeorus เป็นแมลงชีปะขาววงศ์ Heptageniidae มีแพนหางเพียง 2 เส้น เนื่องจากแพนหางเส้นกลางลดรูปไป แมลงชีปะขาวสกุลนี้มีลักษณะเด่น คือ แผ่นเหงือกมีขนาดใหญ่และขอบแผ่นเหงือกมีหนามแหลมขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยในการเกาะกับก้อนหินเพื่อต้านกระแสน้ำที่ไหลแรง และชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหินขนาดใหญ่หรือขนาดกลางบริเวณน้ำไหลแรง และมีคุณภาพดี แมลงชีปะขาวทั้งสองชนิดนี้มีความไวต่อมลพิษ พบเฉพาะลำธารในพื้นที่ป่าเท่านั้น จึงสามารถใช้เป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำได้



เรื่อง/ภาพ บุญเสฐียร บุญสูง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2009-06-23-04-27-44/244-ephemeroptera

การทำกะปิจากเคย

“กะปิเคย” กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน
“เคย” (Opossum shrimp) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รูปร่างคล้ายกุ้ง บางทีก็เรียกว่า “กุ้งเคย” ซึ่งตัวเคยนี้จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป อาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก ตัวเคยมีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน สำหรับคนไทยแล้ว ตัวเคยเป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งหาได้จากธรรมชาติ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์โดยใช้ตัวเคยมาทำกะปิหรือกุ้งแห้ง

การทำกะปิเคยของบริเวณตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงนราธิวาส จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมของทุกปีเป็นต้นไป เนื่องจากบริเวณชายฝั่งทะเลจะมีตัวเคยเข้ามาแถบน้ำตื้นมากมาย จนกระทั่งบางครั้งในตอนเย็นจะมองเห็นว่าทะเลบริเวณน้ำตื้นมีสีออกชมพู ส่วนเครื่องมือในการจับตัวเคยนั้น ส่วนใหญ่ใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้านำมาเย็บเป็นถุงอวน เคยที่จับได้ก็จะเรียกต่างกันออกไป

เคยน้ำแรก (กะปิน้ำแรก) อยู่ในช่วงเดือนมกราคมหรือช่วงแรก จะมีความบริสุทธิ์สูง สะอาด และมักเป็นตัวเคยล้วนๆ เพราะใช้สวิงตักที่ผิวน้ำแทนการรุนที่มักจะมีทรายปนมากับตัวเคย กะปิน้ำแรกจะมีราคาสูง คุณภาพดีที่สุด ใช้ตำน้ำพริกอร่อยมาก

เคยน้ำสอง (เคยรุนหัว) อยู่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ การเก็บตัวเคยน้ำสองนี้ใช้วิธีรุนเคย จึงมีลูกปลาชนิดต่างๆ ปะปนอยู่ค่อนข้างมากในตัวเคยที่รุนได้ กะปิที่ได้มีราคาปานกลาง ทำได้ทั้งน้ำพริกและแกงเผ็ด

เคยน้ำสาม (เคยสารส้มโอ) อยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม การเก็บตัวเคยน้ำสามนี้ ใช้วิธีรุนเคยเช่นเดียวกับการเก็บตัวเคยน้ำสอง แต่ตัวเคยที่เก็บได้จะมีขนาดใหญ่กว่าเคยน้ำแรกและเคยน้ำสอง นอกจากนี้เคยน้ำสามมักมีลูกหอยปนมาอยู่เสมอ กะปิเคยแบบนี้มีราคาต่ำที่สุดจึงเหมาะในการทำแกงเผ็ด แต่ไม่เหมาะในการทำน้ำพริก

วิธีการทำกะปิเคย

1. ชาวบ้านจะใช้ตัวเคย 5 กิโลกรัม ต่อเกลืออย่างดี 1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้นาน 2 คืน จากนั้นนำออกผึ่งแดดพอหมาด

2. นำมา “เช” (ตำ) เบาๆ พอแหลก แล้วหมักไว้ 5 คืน (การหมักขั้นตอนนี้ต้องใส่กระสอบเพื่อให้น้ำในตัวเคยออกมา)

3. นำไปตากแดดพอหมาดโดยบี้เป็นก้อนเล็กๆ

4. นำไป “เช” ใหม่ให้เข้ากันดีจนแหลก ตีปลักเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือก้อนกลมๆ

5. หมักไว้ 2 สัปดาห์ แล้วนำมา “เช” อีกครั้ง

6. บรรจุลงใน “โอ่งขัดน้ำ” (ใส่โอ่งโดยอัดกะปิจนเต็มแน่น ปิดด้วยผ้าพลาสติกโรยด้วยเกลือเม็ดจนเต็มพื้นที่)

7. ตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 45 วันจึงจะนำมาปรุงอาหารได้





การ “เช” หรือการตำตัวเคยให้แหลกก่อนที่จะผ่านกระบวนการหมัก
และกลายมาเป็น “กะปิเคย” ด้วยภูมิปัญญาการถนอมอาหารพื้นบ้าน



ที่มา
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2010-08-09-09-38-28/155-shrimp-sauce

กำเนิดปะการัง

กำเนิดปะการัง
ปะการังกำเนิดมาบนโลกสีน้ำเงินใบนี้กว่า 500 ล้านปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับมนุษย์แล้ว ถือว่าปะการังอยู่บนโลกใบนี้มานานกว่าพวกเรามากนัก ปะการังก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ พยายามจะดำรงเผ่าพันธุ์ตัวเองไว้ จากรุ่นสู่ร่นจากลูกสู่หลาน เมื่อปะการังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเป็นกลุ่มก้อน (colony) ก่อเกิดแนวการังขึ้นมา แล้วกระจายตัวออกไปตามพื้นที่ต่างๆ จนในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นแนวปะการังได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเขตร้อนอย่างบ้านเรานั้นเอง


ประเทศไทยพบแนวปะการังได้ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีปะการังกว่า 270 ชนิด จาก 1000 กว่าชนิดทั่วโลก ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลากว่า 4,000 ชนิด รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเลมากมาย แนวปะการังโดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่ผิวน้ำจนถึงประมาณ 30 เมตร หรือในบริเวณแสงอาทิตย์ส่องถึง อุณหภูมิประมาณ 20-32 องศาเซลเซียส และมักจะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่น้ำค่อนข้างใส แต่ก็มีบางชนิดที่ปรับตัวและอาศัยอยู่ได้ในบริเวณน้ำขุ่น


“ปะการัง” กล่าวถึงพระเอกกันสักนิด ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่สามารถดึงแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างบ้านของตัวเองหรือโครงสร้างหินปูนได้สามารถสืบพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนตัวได้ 2 แบบ คือโดยการอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิดเช่น ต่างกับคนเราที่สืบพันธุ์ได้แบบเดียวคือสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในปะการังก็มีหลายแบบค่ะเช่น การแตกหักจากก้อนปะการังเดิม หรือการแตกหน่อ ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศซึ่งมีทั้งแบบที่ปล่อยตัวอ่อนออกมาสู่มวลน้ำโดยตรงและแบบที่ปะการังปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และน้ำเชื้อ) ออกมาผสมเกิดเป็นตัวอ่อนในมวลน้ำ หลังจากนั้นตัวอ่อนปะการังจะดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนคือล่องลอยไปตามมวลน้ำซึ่งใช้ระยะเวลาในมวลน้ำแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด เมื่อตัวอ่อนปะการังพร้อมก็จะเลือกลงเกาะในพื้นที่ที่เหมาะสม


ส่วนช่วงเวลานั้นปะการังเองก็มีช่วงเวลาการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ โดยมักจะอ้างอิงกับพระจันทร์แต่ก็แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละชนิดและสถานที่ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไป 1-2 เดือน โดยมากปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์หลังจากพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 2-3 ชั่วโมงในช่วง 3-4 วันหลังพระจันทร์เต็มดวง และมักเกิดปรากฎการณ์ที่พบว่าปะการังแต่ละชนิดในแนวปะการังแต่ละพื้นที่จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์พร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไข่และน้ำเชื้อที่ปล่อยออกมาจากปะการังแต่ละตัวจะเกิดการผสมพันธุ์กันมากที่สุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่หลายคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลหรือปะการังเฝ้ารอที่จะมีประสบการณ์สักครั้งกับการพบเห็นการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างที่จะจำเพาะและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปีรวมถึงยังไม่มีการศึกษาให้รู้ถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนทำให้พลาดโอกาสสำคัญนี้ได้ง่าย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าปะการังฝั่งทะเลอ่าวไทยมีแนวโน้มที่จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นหรือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนและฝั่งทะเลอันดามันพบปะการังหลายชนิดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงเวลาเดียวกัน


เมื่อปะการังกำลังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์นั้นมันจะดันไข่พร้อมถุงน้ำเชื้อมาอยู่บริเวณด้านผิวของโครงสร้างหินปูนสักพักหนึ่งก่อนที่ก้อนเซลล์สืบพันธุ์ (bundel) จะถูกปล่อยออกมา รูปร่างหน้าตาของไข่ปะการังนั้นส่วนมากมีลักษณะเป็นวงรีมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร สีส้ม แดงหรือเขียวแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละชนิด ไข่ปะการังหลายชนิดมีขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ภายในของไข่ปะการังส่วนใหญ่ประกอบด้วยไขมันและน้ำเป็นส่วนประกอบหลักจึงมีพฤติกรรมลอยอยู่บริเวณผิวน้ำทำให้สามารถลอยไปในพื้นที่ต่างๆได้ไกลออกไป ซึ่งพื้นที่ที่ตัวอ่อนปะการังจะลงเกาะมักจะลงเกาะบนพื้นผิวที่แข็ง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นสิ่งมีชีวิตอื่นบางชนิดยังเป็นตัวชักนำให้ปะการังลงเกาะอีกด้วย เช่นสาหร่ายสีแดงพวกที่สร้างหินปูนเป็นลักษณะเคลือบ หลังจากที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะแล้ว พวกมันยังมีความสามารถพิเศษตรงที่ถ้าพบว่าพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะปล่อยตัวเองให้หลุดออกจากพื้นผิวแล้วลอยไปตามน้ำเพื่อหาพื้นผิวใหม่ที่เหมาะสมต่อไปได้อีกด้วย และเมื่อพอใจกับบ้านที่เหมาะแล้วมันก็จะเจริญเติบโตขยายขนาดจนกลายเป็นแนวปะการังที่เราพบเห็นในปัจจุบัน


ที่มา
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2010-08-09-09-38-28/195-coralorigin