วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

NASA พบรอยทะเลสาบบนดาวอังคาร


NASA พบรอยทะเลสาบบนดาวอังคาร

นาซา เผย ยานอวกาศสหรัฐฯ พบหลักฐานทะเลสาบโบราณบนดาวอังคาร ซึ่งเพิ่มน้ำหนักการสนับสนุนให้แก่ทฤษฎีที่ว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

            องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา เปิดเผยว่า ยานอวกาศสหรัฐฯ มาร์ส รีคอนเนสซองซ์ ออร์บิทเตอร์ ที่โคจรรอบดาวอังคารพบหลักฐานหลุมทะเลสาบโบราณ ที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำใต้ดิน ซึ่งเพิ่มน้ำหนักการสนับสนุนให้แก่ทฤษฎีที่ว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยข้อมูลที่ส่งมาจากยานอวกาศสำรวจดาวอังคาร แสดงร่องรอยของสารคาร์บอเนต และดินในหลุมแมคลาฟลิน ที่มีความลึกประมาณ 2.2 กิโลเมตร  ทำให้เชื่อว่า หลุมนี้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน

            ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ของยานเอ็มอาร์โอ บอกว่า การค้นพบครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่า ดาวอังคารมีความซับซ้อนมากกว่าที่คาดไว้  และในบางพื้นที่น่าจะมีการเผยสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโบราณ  ส่วนยานคิวริออสซิติอีกลำของนาซา ได้สำรวจพื้นผิวบนดาวอังคาร นับตั้งแต่ลงจอด เมื่อวันที่  6 สิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อเก็บตัวอย่างหินต่าง ๆ  พร้อมกับส่งภาพกลับมายังพื้นโลก

ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/81106

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

บัญญัติ 5 ประการ ต้านโรคไต

บัญญัติ 5 ประการ ต้านโรคไต



       หนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นมากที่สุด ก็คือ โรคไต จากสถิติของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีประชาชนจำนวนถึง 4-5 ล้านคน เริ่มมีภาวะของโรคไตบกพร่อง แต่ไม่ได้มีอาการ และไม่รู้ว่าโรคไตกำลังจะมาเยือน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและฟอกเลือดแล้ว อยู่ที่ห้าร้อยเศษๆ ต่อล้านคน และประมาณสี่หมื่นคนที่จะต้องฟอกเลือด
      
       โรคไตนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่เรารู้จักกันมากที่สุด ก็คือ โรคไตเรื้อรัง แต่เดิมนั้น ใช้คำว่า ไตวาย โรคไตเรื้อรังก็คือการเป็นโรคไตนานๆ แล้วไตก็เสื่อมลงๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เป็นมากที่สุด ก็เรียกว่า ไตวายเรื้อรัง
      
       ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตไม่ใช่โรคที่รักษาไม่ได้ และยิ่งรู้แต่เนิ่นได้เท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี นอกจากนี้ ยังแนะวิธีป้องกัน ตลอดจนการสังเกตเพื่อดูว่าเราเป็นโรคไตหรือไม่ ด้วยหลัก 5 ข้อต่อไปนี้
      
       1.การป้องกันในขั้นปฐมภูมิ โดยหลักของสุขภาพ ถ้ายังไม่เป็นโรค เราก็ควบคุมน้ำหนัก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน ออกกำลังกาย

       2.ใครคือบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคไตที่ควรตรวจ?
       2.1.สูงอายุ ถ้าอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ต้องระวัง ต้องตรวจ
       2.2.คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคไต
       2.3.ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน เป็นความดัน หรือเป็นโรคอ้วน
      
       3.การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไตเสื่อม
       3.1.การรักษาสมดุล กรด-ด่าง
       3.2.การงดการบริโภคสารอาหารโปรตีนเป็นจำนวนมาก
       3.3.การลดอาหารเค็ม
       3.4.การงดการบริโภคไขมันอิ่มตัว

       4.หลักการทานอาหาร
       4.1.อย่าทานเนื้อสัตว์มาก รวมทั้งเนื้อปลา เนื้อไข่
       4.2.อย่าทานเค็ม
       4.3.ลดอาหารจำพวกที่มีฟอสเฟตสูง เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดพืช
       4.4.เครื่องในสัตว์ ควรลด
       4.5.ผักผลไม้ ควรทานเยอะๆ
      
       5.วิธีสังเกตว่าคุณเป็นโรคไตหรือไม่?
       อาการเมื่อเป็นน้อย
       5.1.ไม่มีอาการเตือนอะไรเลย
       5.2.ปัสสาวะกลางคืน
       5.3.ปัสสาวะมีฟองมากผิดสังเกต (เกิดจากเริ่มมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ)
       อาการเมื่อเป็นมาก
       5.4.เบื่ออาหาร, ความดันโลหิตสูง, บวม, เหนื่อย, ซีด, เพลีย, คลื่นไส้, อาเจียน ต้องรีบไปพบแพทย์
      
       กฎเหล็กอาหารเพื่อลูกรัก
      
       มีคำถามว่า หลังจากคุณลูกตัวน้อยอายุได้ 6 เดือน ควรทำอาหารอะไรที่เหมาะสม?
       รศ.คลินิก พญ.สุนทรี รัตนชูเอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็ก รพ.เด็ก ให้ความรู้ว่า ถึงแม้นมยังเป็นอาหารหลัก แต่หลังจากหกเดือน น้ำนมแม่เริ่มไม่เพียงพอแล้ว จำเป็นที่จะต้องเสริมอาหารเข้าไป อย่างพวกข้าวบด และอาจจะมีการใส่กล้วยน้ำหว้าครูดเข้าไป แต่กระนั้น พลังงานอาจจะไม่เพียงพอ เพราะว่าเวลาลูกเรารับประทานนมหรือนมแม่ จะได้รับสารอาหารครบ แต่พอมากินข้าวกับกล้วย สารอาหารก็คงมีเพียงสารอาหารจำพวกแป้ง และที่สำคัญ พอหลังหกเดือน เด็กจะเริ่มขาดธาตุอาหารประเภทเหล็ก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กเข้าไปในข้าวบด เช่น ตัวหรือเลือดแล้วบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมไปกับข้าวบด ก็จะช่วยลดการขาดธาตุเหล็ก
      
       “และที่สำคัญ คือ เรื่องรสชาติ ไม่ต้องปรุงให้ลูก เพราะลูกเล็กกินรสใดก็ได้ แต่เดิม ลูกกินเพียงแค่นม ตุ่มรับรสของเด็กจะสัมผัสว่าอร่อยและหวานที่สุดแล้ว ทีนี้ ถ้าแม่เติมน้ำตาลไปในข้าวบด มันจะหวานมาก และหลังจากนั้นจะส่งผลให้ลูกติดหวาน จะทานอะไร ก็ต้องเติมน้ำตาลลงไปอีก สร้างความเคยชินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ดังนั้น ไม่ต้องใส่น้ำตาล ไม่ต้องปรุงรส”
      
       ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี

ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000006328

ตัดถุงน้ำดี มีผลอย่างไร

ตัดถุงน้ำดี มีผลอย่างไร

ถุงน้ำดี มีลักษณะเป็นถุง เป็นกระเปาะ มีทางเดินติดต่อกับระบบน้ำดีส่วนกลาง  ถุงน้ำดีมีหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่สร้างมาจากตับ แล้วจะมาถูกพักไว้ในถุงน้ำดี เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป โดยเฉพาะอาหารมันๆ จะไปกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของถุงน้ำดี  ทำให้น้ำดีที่พักไว้ในถุงไหลลงสู่ระบบน้ำดีเข้าสู่ทางเดินอาหารเพื่อย่อยสลายอาหารต่อไป    
      
เหตุที่ต้องตัดถุงน้ำดีมีอยู่ 2 สาเหตุหลักๆ  คือ

1. มีนิ่วเกิดขึ้นในถุงน้ำดี  
2.มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในถุงน้ำดี

หลังจากตัดถุงน้ำดีออก อาจทำให้การย่อยอาหารผิดปกติไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ ซึ่งปริมาณน้ำดีอาจน้อยลง เนื่องจากไม่มีที่พักเก็บน้ำดีแล้ว โดยที่น้ำดีจะไหลลงมาเรื่อยๆ สู่ระบบทางเดินอาหาร   

ทำให้มีอาการท้องอืดแน่นท้องได้ยิ่งในระยะแรกหลังการผ่าตัด  แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนไข้อาจมีการปรับตัว  เช่น ท่อทางเดินน้ำดีมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น น้ำดีก็อาจจะมาค้างที่ท่อทางเดินน้ำดีมากขึ้น  หรือเมื่อคนไข้เริ่มปรับตัวได้มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้ระบบการย่อยอาหารนั้นกลับมาเหมือนหรือคล้ายๆ กับปกติได้
      
       สำหรับการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด ควรระวังเรื่องของบาดแผลเป็นสำคัญ โดยปกติแผลจะหายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์  แพทย์จะแนะนำในช่วง 1-2 เดือนแรก อย่าหักโหมทำงานหนัก ยกของหนัก หรือเดินทางไกลๆ เพราะแผลที่หายสนิทอาจจะยังไม่สมานเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แข็งแรงพอ และอาจมีการปริแยกของแผลได้
      
ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000005788