วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตุ่มจิ๋วที่ “ขากรรไกร” จระเข้ไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วคน


จุดสีดำตามแนวขากรรไกรจระเข้สามารถรับความรู้สึกได้เร็วกว่าปลายนิ้วมนุษย์ (BBC Nature)


ตุ่มจิ๋วที่ “ขากรรไกร” จระเข้ไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วคน

       งานวิจัยใหม่เผยตุ่มจิ๋วตามแนวขากรรไกรของจระเข้นั้นไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วของมนุษย์เสียอีก ซึ่งการไวต่อสัมผัสนี้ทำให้จระเข้สามารถคาบไข่ของตัวเองได้อย่างละมุน และตะครุบเหยื่อได้ในเวลาไม่ถึงวินาที
      
       “ทันทีที่พวกมันรู้สึกถึงสัมผัสบางอย่าง พวกมันก็ตะครุบทันที” เคน คาทาเนีย (Ken Catania) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ในเทนเนสซี สหรัฐฯ ผู้วิจัยเรื่องนี้กล่าว
      
       ไลฟ์ไซน์ระบุว่า คาทาเนียสงสัยว่าทำไมสัตว์จำพวกจระเข้จึงมีตุ่มจิ๋วๆ อยู่บนใบหน้า ซึ่งโครงสร้างเล็กๆ เหล่านี้ช่วยให้นักอนุรักษ์แยกหนังจระเข้ที่ใช้ผลิตกระเป๋าสตังค์ รองเท้าและเข็มขัดว่ามาจากฟาร์มหรือลักลอบล่าได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าตุ่มเหล่านั้นมีหน้าที่อะไร
      
       คาทาเนีย และ ดันแคน ไลท์ช (Duncan Leitch) นักศึกษาปริญญาตรีของเขาจึงใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เพื่อส่องเข้าไปใกล้ๆ โครงสร้างตุ่มนั้นของจระเข้อเมริกันอัลลิเกเตอร์และจระเข้จากแม่น้ำไนล์ ซึ่งเผยให้เห็นปลายเส้นประสาทที่สามารถตรวจวัดการสั่นไหวและแรงดันได้
      
       จากนั้นพวกเขาก็ตามรอยหาแหล่งของปลายประสาทเหล่านั้น ซึ่งพบว่าปลายประสาทเหล่านั้นขึ้นมาจากเส้นประสาทไตรเจมินัล (trigeminal nerve) ซึ่งโผล่ขึ้นมาตรงๆ จากกะโหลก โดยคนเราเองก็มีเส้นประสาทประเภทดังกล่าว ซึ่งช่วยให้รับความรู้สึกทางใบหน้าและรับสัญญาณสั่งการที่จำเป็นต่อการกัด เคี้ยวและกลืน
      
       หลังจากนั้นทีมวิจัยได้เปิดการทำงานของเครือข่ายเส้นประสาทนี้ โดยทีมวิจัยก่อนหน้านี้ได้ชี้ว่าตุ่มที่ใบหน้าอาจจะตรวจวัดระดับเกลือในน้ำได้ ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามให้จระเข้แม่น้ำไนล์ได้สัมผัสกับน้ำเค็มขณะวัดสัญญาณไฟฟ้าที่เส้นประสาทดังกล่าว พวกเขาไม่พบอะไรเลย แต่เมื่อทดสอบความไวในการสัมผัส ซึ่งทำโดยการใช้ขนเส้นเล็กๆ สัมผัสที่ตุ่มดังกล่าว ผลปรากฏว่าตุ่มดังกล่าวมีความไวต่อสัมผัสมากกว่าปลายนิ้วของมนุษย์
      
       นักวิจัยพบว่าทั้งจระเข้ครอคส์และเกเตอร์สนั้นใช้ขากรรไกรตะครุบเหยื่อในเวลาเพียง 0.05 วินาที ซึ่งเป็นเวลาในการตอบสนองที่น่าจะถูกกระตุ้นด้วยผิวหนังที่มีความไวสูง แต่สัตว์เลื้อยคลานตัวยักษ์เหล่านี้ก็สามารถประคองไข่ไว้ในปากได้อย่างนุ่มนวล เพื่อย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
       ตอนนี้นักวิจัยกำลังสนใจว่าสมองส่วนไหนที่ประมวลผลการรับรู้จากเส้นประสาทเหล่านี้ และคาทาเนียยังกล่าวอีกว่าแม้จระเข้ไม่ใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ แต่ก็มีความสำคัญที่ช่วยเติมเต็มปริศนาวิวัฒนาการว่า การรับความรู้ในสมองส่วนหน้านั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างไร

ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137297

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สงสารแพนด้า...อนาคตจะไม่มีไผ่กินเพราะโลกร้อน

สงสารแพนด้า...อนาคตจะไม่มีไผ่กินเพราะโลกร้อน


แบบจำลองภูมิอากาศชี้โลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเจิรญเติบโตของไผ่ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของแพนด้า (ไลฟ์ไซน์/Jessie Cohen/Smithsonian's National Zoo)


       แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่คนหลงมากที่สุดด้วยหน้าตาน่าเอ้นดู แต่ “แพนด้า” ก็ไม่รอดพ้นจากการถูกภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคุกคาม เมื่อนักวิจัยศึกษาว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงศตวรรษหน้านั้น จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของไผ่ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของหมีตาขอบดำ เว้นแต่พืชชนิดนี้จะย้ายถิ่นเจริญเติบโตไปยังบริเวณที่สูงขึ้นก็ยังจะพอมีหวังได้บ้าง
      
       อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยระบุว่าความหวังที่พอมีในการกอบกู้พื้นที่เจริญเติบโตของไผ่ซึ่งเป็นอาหารแพนด้านั้นอาจถูกมนุษย์แย่งชิงไปเป็นถิ่นอาหารและใช้สร้างกิจกรรมต่างๆ หากว่าเราเริ่มโครงการอนุรักษ์ช้าเกินไป โดย หลิว เจี้ยนกั๋ว (Jianguo Liu) สมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย (Michigan State University) สหรัฐฯ บอกทางไลฟ์ไซน์ว่า หากเราเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ตอนนี้เลยก็ยังคงพอมีหวัง แต่หากมัวก็จะช้าเกินไป
      
       ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อคาดคะเนอนาคตของไผ่ 3 สปีชีส์ ที่จำเป็นต่อแพนด้าในภูเขาฉินหลิ่ง (Qinling Mountain) ของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 4 ของที่อยู่อาศัยของแพนด้า แต่ละแบบจำลองนั้นแตกต่างกันไปตามคาดการณ์ที่จำเพาะ แต่ทุกแบบจำลองพยากรณ์ถึงระดับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นภายในศตวรรษที่จะมาถึง
      
       ผลการพยากรณ์ชี้ว่า หากไผ่เหล่านั้นยังถูกกำจัดการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ไผ่จำนวน 80-100% ของปัจจุบันจะหายไปภายในปลายศตวรรษที่ 21 เพราะไม่สามารถเจิรญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึง่ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงวารสาร เนเจอร์ไคลเมทแชงจ์ (Nature Climate Change)
      
       อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากไผ่สามารถย้ายไปเติบโตในพื้นที่ใหม่ซึ่งหนาวเย็นกว่า และเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิเท่าถิ่นที่อยู่เดิมในปัจจุบัน (เนื่องจากคาดการณ์ว่าอนาคตจะร้อนขึ้น) ก็ยังพอมีหวังแก่การอยู่รอดของไผ่เหล่านั้นต่อไปได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เราจะสามารถจำกัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้หรือไม่
      
       “แบบจำลองทั้งหมดค่อนข้างสอดคล้องกัน แนวโน้มทั่วไปนั้นเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันคืออุณหภูมิของการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีภาพความหวังอยู่บ้างเมื่อเรายอมให้ให้ไผ่กระจายพันธุ์ไปได้ทุกที่ แต่ก็ยังคงมีผลตามมาที่น่ากลัว และชัดเจนว่าหากไผ่ไม่มีที่ไปจริง ถิ่นอาศัยของแพนด้าก็จะลดลงอย่างรดเร็วด้วย” หลิวอธิบายผลคาดการณ์จากแบบจำลองสภาพอากาศแก่ไลฟ์ไซน์
      
       ตอนนี้แพนด้าจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกันไม่ให้มนุษย์บุกรุกเข้าไป ถึงอย่างนั้น พื้นที่เกือบทั้งหมดที่แพนด้าอาศัยอยู่ก็จะไม่ใช่ถิ่นเจริญเติบโตที่ยั่งยืนสำหรับไผ่ในอนาคต หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้นไปตามที่พยากรณ์ไว้ แต่หากนักอนุรักษ์เดินหน้าตั้งแต่ตอนนี้เพื่อย้ายพื้นที่อนุรักษ์แพนด้าไปตามขอบเขตถิ่นที่อยู่ของไผ่ ก็มีความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์พื้นที่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของแพนด้าได้
      
       อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่าไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังคุกคามแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก แต่กิจกรรมของมนุษย์ก็ได้จำกัดถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ซึ่งอาศัยแหล่งอาหารเพียงอย่างเดียว ที่อาหารอื่นซึ่งให้สารอาหารและอุดมพลังงานไม่อาจทดแทน
      
       นอกจากแพนด้าในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในจีนแล้ว ยังมีแพนด้าที่กระจายตัวไปตามสวนสัตว์ต่างๆ และศูนย์ขยายพันธุ์ทั่วโลก แต่หลิวก็ไม่อาจคาดเดาอนาคตของแพนด้าหากพวกมันสูญเสียแหล่งอาศัยตามธรรมชาติไปหมด และการอนุรักษ์ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ในศูนย์หรือสวนสัตว์ ซึ่งจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวร
      
ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000138345

คอกาแฟเครียด! อาราบิกา (อาจ) จะสูญพันธุ์เพราะโลกร้อน

 
คอกาแฟเครียด! อาราบิกา (อาจ) จะสูญพันธุ์เพราะโลกร้อน

ทีมวิจัยอังกฤษ-เอธิโอเปียศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจส่งผลให้พื้นที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของกาแฟอาราบิกาป่าลดลงอย่างรุนแรงเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งสอดคล้องการพยากรณ์ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำลายการผลิตกาแฟของโลก
      
       กาแฟอาราบิกาและกาแฟโรบัสตาเป็นกาแฟ 2 สปีชีส์สำคัญสำหรับทางการค้า แต่บีบีซีนิวส์ระบุว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของกาแฟอาราบิกาป่านั้นมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมกาแฟอย่างยิ่ง โดยอาราบิกาที่มีการเพาะปลูกในพื้นที่ปลูกกาแฟของโลกนั้นมีความจำกัดทางพันธุกรรม และเชื่อว่าขาดความยืดหยุ่นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงการคุกคามอื่นๆ อย่างแมลงศัตรูพืชและโรคพืชต่างๆ
      
       ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์หลวง (Royal Botanic Gardens) ในเมืองคิว สหราชอาณาจักร และคณะทำงานสิ่งแวดล้อมและป่ากาแฟ (Environment and Coffee Forest Forum : ECFF) ในเมืองแอดดิสอบาบา (Addis Ababa) เอธิโอเปีย ได้ศึกษาการกระจายตัวในอนาคตของอาราบิกาป่าโดยใช้แบบจำลองภูมิอากาศ และได้สรุปผลงานดังกล่าวในวารสารพลอสวัน (Plos One)
      
       พวกเขาพิจารณาว่าอาราบิกาป่าจะได้รับผลกระทบจากการปลดปล่อยคาร์บอนที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบและ 3 ช่วงเวลา คือปี 2020, 2050 และ 2080 และเมื่อทีมวิจัยได้พิจารณาต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตำแหน่งที่ปัจจุบันอาราบิกาเจริญเติบโตอยู่ ซึ่งผลในแง่ดีที่สุดคือ ในพื้นที่เหมาะสมต่อการเติบโตกาแฟอาราบิกาจะลดลงถึง 65% ภายในปี 2080 แต่ผลลัพธ์แย่ที่สุดอาราบิกาจะลดลงถึง 99.7% ภายในปี 2080 เช่นเดียวกัน ส่วนวิธีการวิเคราะห์ที่ต่างออกไปนั้นพบว่าผลลัพธ์ดีที่สุดนั้นกาแฟอาราบิกาจะให้ผลผลิตลดลง 38% แต่กรณีแย่ที่สุดผลผลิตอาราบิกาจะลดลงถึง 90%
      
       อารอน เดวิส (Aaron Davis) หัวหน้าทีมวิจัยกาแฟที่สวนพฤกษศาสตร์หลวงกล่าวว่า การสูญพันธุ์ของกาแฟอาราบิกานั้นเป็นการคาดการณ์ที่น่าใจหายและน่าวิตก ถึงอย่างนั้น เขาระบุว่าเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อปล่อยข่าวการพยากรณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกในเรื่องการสูญสิ้นอาราบิกาในป่า แม้ว่าการคาดการณ์นั้นจะทำให้เราต้องกังวล แต่มากกว่านั้นคือการประเมินว่าเราจะลงมือแก้ไขอย่างไร
      
       ทีมวิจัยยังเผยว่า ผลจากการศึกษานั้นควรให้เป็นเรื่องของการป้องกัน เพราะแบบจำลองที่ใช้นั้นไม่ใช่การสูญเสียป่าในภาพใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นในป่าที่ราบสูงของเอธิโอเปียและซูดานใต้ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติของกาแฟอาราบิกา ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังขาดข้อมูลที่เหมาะสม โดยแบบจำลองนั้นได้สรุปเอาเองว่า การเติบโตตามธรรมชาตินั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวจะเสียหายไปมากเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า
      
       นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่กระทบต่อผลผลิตกาแฟอื่นๆ อีกที่ยังไม่ได้ใส่เข้าไปในแบบจำลอง อาทิ แมลงศัตรูพืช โรคพืช การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาผลิดอก และการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนก ซึ่งมีผลต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์กาแฟ


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“น้ำแกว่งสารส้ม” ดื่มมากอะลูมิเนียมยิ่งมาก เสี่ยงอัลไซเมอร์ถามหา

 

“น้ำแกว่งสารส้ม” ดื่มมากอะลูมิเนียมยิ่งมาก เสี่ยงอัลไซเมอร์ถามหา

 ตรวจอะลูมิเนียมในน้ำดื่ม 4 อำเภอน้ำท่วมพิษณุโลก พบเกินมาตรฐาน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร 5% คาด เติมสารส้มมากเกินไป เตือนดื่มน้ำมีอะลูมิเนียมสูง เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์และไตเสื่อม กรมวิทย์เตรียมศึกษาปริมาณเติมสารส้มที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

วันนี้ (12 พ.ย.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในครัวเรือนในรูปสารประกอบไฮเดรตเตดโพแทสเซียมอะลูมิเนียมซัลเฟต (สารส้ม) เพื่อกวนน้ำให้ตกตะกอนจนได้น้ำใสมาใช้อุปโภค บริโภค รวมไปถึงใช้ระงับกลิ่นตัวที่รักแร้และเท้า โดยปกติคนทั่วไปมีโอกาสได้รับอะลูมิเนียมเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีความใสจากการใช้สารส้มแกว่ง
      
       นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการควบคุมตรวจสอบปริมาณอะลูมิเนียมในน้ำให้มีปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายประมาณร้อยละ 3 ถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสื่อมได้
      
       “ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย หรือไตบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงต่อพิษของอะลูมิเนียมสูงกว่าคนปกติ หากบริโภคน้ำที่มีอะลูมิเนียม หรือสารส้มปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง เกิดผื่นคันเป็นแผลร้อนในได้ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อประสาท” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
      
       นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก เก็บตัวอย่างน้ำรวมทั้งสิ้น 60 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณอะลูมิเนียมด้วยวิธี Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrophotometer (GFAAS) ปริมาณอะลูมิเนียมต่ำสุดในน้ำที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ของวิธีนี้เท่ากับ 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร
      
       นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจวิเคราะห์พบอะลูมิเนียมในน้ำจำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ปริมาณที่พบมีความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.06 ถึง 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ในจำนวน 7 ตัวอย่างที่พบนั้น มีจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ที่พบปริมาณอะลูมิเนียมเท่ากับ 0.30, 0.39 และ 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่สูงเกินกว่าที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบอะลูมิเนียมเกินมาตรฐานนี้เก็บจากประปาหมู่บ้านในอำเภอพรหมพิราม จำนวน 1 ตัวอย่าง และอำเภอเมือง จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ประชาชนที่บริโภคน้ำดังกล่าวจึงยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากพิษของอะลูมิเนียม
      
       “หากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานระบบประสาทอาจถูกทำลายและเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้รายงานผลดังกล่าวให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว และจะทำการศึกษาปริมาณการเติมสารส้มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว


ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000138174