วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตุ่มจิ๋วที่ “ขากรรไกร” จระเข้ไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วคน


จุดสีดำตามแนวขากรรไกรจระเข้สามารถรับความรู้สึกได้เร็วกว่าปลายนิ้วมนุษย์ (BBC Nature)


ตุ่มจิ๋วที่ “ขากรรไกร” จระเข้ไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วคน

       งานวิจัยใหม่เผยตุ่มจิ๋วตามแนวขากรรไกรของจระเข้นั้นไวต่อสัมผัสยิ่งกว่าปลายนิ้วของมนุษย์เสียอีก ซึ่งการไวต่อสัมผัสนี้ทำให้จระเข้สามารถคาบไข่ของตัวเองได้อย่างละมุน และตะครุบเหยื่อได้ในเวลาไม่ถึงวินาที
      
       “ทันทีที่พวกมันรู้สึกถึงสัมผัสบางอย่าง พวกมันก็ตะครุบทันที” เคน คาทาเนีย (Ken Catania) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ในเทนเนสซี สหรัฐฯ ผู้วิจัยเรื่องนี้กล่าว
      
       ไลฟ์ไซน์ระบุว่า คาทาเนียสงสัยว่าทำไมสัตว์จำพวกจระเข้จึงมีตุ่มจิ๋วๆ อยู่บนใบหน้า ซึ่งโครงสร้างเล็กๆ เหล่านี้ช่วยให้นักอนุรักษ์แยกหนังจระเข้ที่ใช้ผลิตกระเป๋าสตังค์ รองเท้าและเข็มขัดว่ามาจากฟาร์มหรือลักลอบล่าได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าตุ่มเหล่านั้นมีหน้าที่อะไร
      
       คาทาเนีย และ ดันแคน ไลท์ช (Duncan Leitch) นักศึกษาปริญญาตรีของเขาจึงใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เพื่อส่องเข้าไปใกล้ๆ โครงสร้างตุ่มนั้นของจระเข้อเมริกันอัลลิเกเตอร์และจระเข้จากแม่น้ำไนล์ ซึ่งเผยให้เห็นปลายเส้นประสาทที่สามารถตรวจวัดการสั่นไหวและแรงดันได้
      
       จากนั้นพวกเขาก็ตามรอยหาแหล่งของปลายประสาทเหล่านั้น ซึ่งพบว่าปลายประสาทเหล่านั้นขึ้นมาจากเส้นประสาทไตรเจมินัล (trigeminal nerve) ซึ่งโผล่ขึ้นมาตรงๆ จากกะโหลก โดยคนเราเองก็มีเส้นประสาทประเภทดังกล่าว ซึ่งช่วยให้รับความรู้สึกทางใบหน้าและรับสัญญาณสั่งการที่จำเป็นต่อการกัด เคี้ยวและกลืน
      
       หลังจากนั้นทีมวิจัยได้เปิดการทำงานของเครือข่ายเส้นประสาทนี้ โดยทีมวิจัยก่อนหน้านี้ได้ชี้ว่าตุ่มที่ใบหน้าอาจจะตรวจวัดระดับเกลือในน้ำได้ ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามให้จระเข้แม่น้ำไนล์ได้สัมผัสกับน้ำเค็มขณะวัดสัญญาณไฟฟ้าที่เส้นประสาทดังกล่าว พวกเขาไม่พบอะไรเลย แต่เมื่อทดสอบความไวในการสัมผัส ซึ่งทำโดยการใช้ขนเส้นเล็กๆ สัมผัสที่ตุ่มดังกล่าว ผลปรากฏว่าตุ่มดังกล่าวมีความไวต่อสัมผัสมากกว่าปลายนิ้วของมนุษย์
      
       นักวิจัยพบว่าทั้งจระเข้ครอคส์และเกเตอร์สนั้นใช้ขากรรไกรตะครุบเหยื่อในเวลาเพียง 0.05 วินาที ซึ่งเป็นเวลาในการตอบสนองที่น่าจะถูกกระตุ้นด้วยผิวหนังที่มีความไวสูง แต่สัตว์เลื้อยคลานตัวยักษ์เหล่านี้ก็สามารถประคองไข่ไว้ในปากได้อย่างนุ่มนวล เพื่อย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
       ตอนนี้นักวิจัยกำลังสนใจว่าสมองส่วนไหนที่ประมวลผลการรับรู้จากเส้นประสาทเหล่านี้ และคาทาเนียยังกล่าวอีกว่าแม้จระเข้ไม่ใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ แต่ก็มีความสำคัญที่ช่วยเติมเต็มปริศนาวิวัฒนาการว่า การรับความรู้ในสมองส่วนหน้านั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างไร

ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000137297