วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด(ตอนที่ 3)

สมันหรือเนื้อสมัน
Cervus schomburki

ลักษณะ : เนื้อสมันเป็นกวางชนิดหนึ่งที่เขาสวยงามที่สุด ในประเทศไทย เมื่อโตเต็มวัยจะมีความสูงที่ไหล่ประมาณ ๑ เมตร สีขนบนลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มและเรียบเป็นมัน หางค่อนข้างสั้น และมีสีขางทางตอนล่างสมันมีเขาเฉพาะตัวผู้ ลักษณะเขาของสมันมีขนาดใหญ่ และแตกกิ่งก้านออกหลายแขนง ดูคล้ายสุ่มหรือตะกร้า สมันจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กวางเขาสุ่ม

อุปนิสัย : ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ หลังจากหมดฤดูผสมพันธุ์ และตัวผู้จะแยกตัวออกมาอยู่โดดเดี่ยว สมันชอบกินหญ้าโดยเฉพาะหญ้าอ่อน ผลไม้ ยอดไม้ และใบไม้หลายชนิด

ที่อยู่อาศัย : สมันจะอาศัยเฉพาะในทุ่งโล่ง ไม่อยู่ตามป่ารกทึบ เนื่องจากเขามีกิ่งก้านสาขามาก จะเกี่ยวพันพันกับเถาวัลย์ได้ง่าย

เขตแพร่กระจาย : สมันเป็นสัตว์ชนิดที่มีเขตแพร่กระจายจำกัด อยู่ในบริเวณที่ราบภาคกลางของประเทศเท่านั้น สมัยก่อนมีชุกชุมมากในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดรอบกรุงเทพฯ เช่น นครนายก ปทุมธานี และปราจีนบุรี และแม้แต่บริเวณพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ เช่น บริเวณพญาไท บางเขน รังสิต ฯลฯ

สถานภาพ : สมันได้สูญพันธุ์ไปจากโลกและจากประเทศไทยเมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่แล้ว สมันยังจัดเป็นป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาของสมันไม่ให้มีการส่งออกนอกราชอาณาจักร

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยได้ถูกเปลี่ยนเป็นนาข้าวเกือบทั้งหมด และสมันที่เหลืออยู่ตามที่ห่างไกลจะถูกล่าอย่างหนักในฤดูน้ำหลากท่วมท้องทุ่ง ในเวลานั้นสมันจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่รวมกันบนที่ดอนทำให้พวกพรานล้อมไล่ฆ่าอย่างง่ายดาย

กวางผา
Naemorhedus griseus


ลักษณะ : กวางผาเป็นสัตว์จำพวก แพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า ๕๐ เซนติเมตร เพียงเล็กน้อย และมีน้ำหนักตัวประมาณ ๓๐ กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทา มีแนวสีดำตามสันหลงไปจนจดหาง ด้านใต้ท้องสีจางกว่าด้านหลัง หางสั้นสีดำ เขาสีดำมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบโคนเขา และปลายเรียวโค้งไปทางด้านหลัง

อุปนิสัย : ออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็น และตอนเช้ามืด หลับพักนอนตามพุ่มไม้ และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ กวางผาอยู่รวมกันเป็นฝูงๆละ ๔-๑๒ ตัว ผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ออกลูกครอกละ ๑-๒ ตัว ตั้งท้องนาน ๖ เดือน

ที่อาศัย : กวางผาจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร

เขตแพร่กระจาย : กวางผามีเขตแพร่กระจายตั้งแต่แคว้นแพร่กระจาย ตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ลงมาจนถึงแคว้นอัสสัม จีนตอนใต้ พม่าและตอนเหนือของประเทศไทย ในประเทศไทยมีรายงานพบกวางผาตามภูเขาที่สูงชันในหลายบริเวณ เช่น ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยมือกาโด จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดตาก

สถานภาพ : กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทยและอนุสัญญา CITES จัดไว้ใน Appendix I

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : เนื่องจากการบุกรุกถางป่าที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในระยะเริ่มแรกและชาวบ้านในระยะหลัง ทำให้ที่อาศัยของกวางผาลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงตามยอดเขาที่สูงชัน ประกอบกับการล่ากวางผาเพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการสมานกระดูกที่หักเช่นเดียวกับเลียงผา จำนวนกวางผาในธรรมชาติจึงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก


นกแต้วแล้วท้องดำ
Pitta gurneyi

ลักษณะ : เป็นนกขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๒๑ เซนติเมตร จัดเป็นนกที่มีความสวยงามมาก นกตัวผู้มีส่วนหัวสีดำ ท้ายทอยมีสีฟ้าประกายสดใส ด้านหลังสีน้ำตาลติดกับอกตอนล่าง และตอนใต้ท้องที่มีดำสนิท นกตัวเมียมีสีสดใสน้อยกว่า โดยทั่วไปสีลำตัวออกน้ำตาลเหลือง ไม่มีแถบดำบนหน้าอกและใต้ท้อง นกอายุน้อยมีหัว และคอสีน้ำตาลเหลือง ส่วนอกใต้ท้องสีน้ำตาล ทั่วตัวมีลายเกล็ดสีดำ

อุปนิสัย : นกแต้วแล้วท้องดำทำรังเป็นซุ้มทรงกลม ด้วยแขนงไม้และใบไผ่ วางอยู่บนพื้นดิน หรือในกอระกำ วางไข่ ๓-๔ ฟอง ทั้งพ่อนกและแม่นก ช่วยกันกกไข่และหาอาหารมาเลี้ยงลูก อาหารได้แก่หนอนด้วง ปลวก จิ้งหรีดขนาดเล็ก และแมลงอื่นๆ

ที่อยู่อาศัย : นกแต้วแล้วท้องดำชนิดนี้พบอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณป่าดงดิบต่ำ

เขตแพร่กระจาย : พบตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศพม่า ลงมาจนถึงเขตรอยต่อระหว่างประเทศไทย กับประเทศมาเลเซีย

สถานภาพ : เคยพบชุกชุมในระยะเมื่อ ๘๐ ปีก่อน แต่ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์เลยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนมีรายงานพบครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๑ นกแต้วแล้วท้องดำ ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ชนิดที่หายากชนิดหนึ่ง ในสิบสองชนิดที่หายากของโลก

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : นกชนิดนี้ จัดเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดงดิบต่ำ ซึ่งกำลังถูกตัดฟันอย่างหนัก และสภาพที่อยู่เช่นนี้มีน้อยมากในบริเวณเขตคุ้มครองในภาคใต้ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นนกที่หายากเป็นที่ต้องการของตลาดนกเลี้ยง จึงมีราคาแพง อันเป็นแรงกระตุ้นให้นกแต้วแล้วท้องดำถูกล่ามากยิ่งขึ้น