วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พบ 2 “หลุมดำยักษ์” มวลมากกว่าดวงอาทิตย์หมื่นล้านเท่า

พบ 2 “หลุมดำยักษ์” มวลมากกว่าดวงอาทิตย์หมื่นล้านเท่า

นักวิทยาศาสตร์พบ 2 หลุมดำใหญ่ยักษ์สุดเท่าที่เคยพบ มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์เราถึง 10,000 ล้านเท่า อยู่ไกลออกไป 300 ล้านปีแสง จุดคำถามขึ้นว่าหลุมดำเหล่านั้นโตขึ้นมาได้อย่างไร

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) สหรัฐฯ ได้ค้นพบ2 หลุมดำขนาดยักษ์ ซึ่งเอพีรายงานว่าแต่ละหลุมดำนั้นมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เท่า 10,000 ล้านเท่า โดยอยู่กาแลกซีวงรีที่ห่างจากโลกไป 300 ล้านปีแสง โดยหลุมดำที่ติดอันดับใหญ่สุดก่อนหน้านี้ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 6 พันล้านเท่า

“พวกมันเป็นปีศาจชัดๆ เราไม่คาดว่าจะได้เจอหลุมดำใหญ่ขนาดนี้ เพราะพวกมันมีขนาดใหญ่มากกว่าที่จะชี้วัดได้ด้วยคุณสมบัติของกาแลกซีที่พวกมันอยู่ มันเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาจริงๆ” หม่า จงเผ่ย (Chung-Pei Ma) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากเบิร์กเลย์กล่าว

สำหรับงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) นี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หลุมดำเหล่านี้อาจเหลือจากควอซาร์ (quasar) ที่แออัดในยุคต้นๆ ของเอกภพ โดยมีมวลคล้ายกับควอซาร์อายุน้อยและถูกซ่อนไว้อย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับการค้นพบล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ทั้งกล้องโทรทรรศน์บนโลกและกล้องโทรทรรศน์ในอวกาศอย่างฮับเบิล (Hubble) รวมถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อสังเกตดวงดาวที่อยู่ใกล้ๆ หลุมดำ และวัดความของดาวเพื่อหาหลุมดำขนาดใหญ่นี้ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มองไม่เห็น

ทั้งนี้ หลุมดำเป็นวัตถุที่หนาแน่นมากจนไม่มีสิ่งใดแม้กระทั่งแสงที่สามารถหนีออกมาได้ ซึ่งบางหลุมดำเกิดจากการยุบตัวของดาวขนาดใหญ่ แต่ นิโคลัส แมคคอนเนลล์ (Nicholas McConnell) นักศึกษาเบิร์กเลย์ซึ่งศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า ยังไม่แน่ชัดนักว่าหลุมดำยักษ์นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร และการมีขนาดใหญ่อย่างนี้หลุมดำทั้งสองต้องโตขึ้นมากนับแต่ก่อเกิดขึ้นมา

เชื่อว่ากาแลกซีส่วนใหญ่มีหลุมดำอยู่ที่ใจกลาง ยิ่งกาแลกซีใหญ่มากหลุมดำก็ยิ่งใหญ่ขึ้นไปด้วย ส่วนควอซาร์นั้นเป็นใจกลางกาแลกซีที่ทรงพลังมหาศาลและอยู่ไกลโพ้น ซึ่งนักวิจัยระบุว่าการค้นพบของพวกเขานั้นชี้ว่ามีหลายวิธีที่หลุมดำจะเติบโตขึ้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดของกาแลกซี

ด้าน หม่าคาดเดาว่าหลุมดำทั้งสองซ่อนตัวมาได้นาน เพราะตอนนี้หลุมดำเหล่านั้นอยู่ในบั้นปลายของควอซาร์ที่ค่อนข้างสงบ ซึ่งอยู่อย่างเงียบเชียบและนิ่งเฉยมากกว่าเมื่อครั้งอยู่ในควอซาร์อายุน้อยที่อึกทึกและวุ่นวายเมื่อหลายพันล้านปีก่อน โดยฌธอได้เปรียบเทียบการค้นพบหลุมดำขนาดใหญ่นี้ว่าสำหรับนักดาราศาสตร์แล้วก็เหมือนการที่คนสูงกว่า 2 เมตรไปเจอกระดูกไดโนเสาร์เข้าและดูด้อยลงทันตา

“แล้วพวกมันโตขนาดนี้ได้อย่างไร การค้นพบสิ่งที่ไม่เจอได้บ่อยนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าพวกมันมีต้นกำเนิดที่ใหญ่อยู่แล้ว หรือกินอะไรเข้าไปจนใหญ่โตได้ขนาดนี้” หม่าให้ความเห็น

ทางด้าน มิเชล แคปเปลลารี (Michele Cappellari) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) อังกฤษ ซึ่งเขียนความเห็นในวารสารเนเจอร์ เห็นด้วยว่าการค้นพบหลุมดำทั้งสองครั้งนี้อาจแสดงถึงซากที่เหลือของหลุมดำขนาดใหญ่ที่เป็นพลังให้แก่ควอซาร์ที่สว่างสุกใสที่สุดในเอกภพยุคเริ่มต้น

หนึ่งในหลุมดำที่เพิ่งพบนั้นมีมวลหนักกว่าดวงอาทิตย์ 9.7 พันล้านเท่า ส่วนอีกหลุมดำนั้นอยู่ไกลไกลออกไป โดยน่ามีขนาดใหญ่เท่าๆ กันหรืออาจจะใหญ่กว่า และเป็นไปได้ว่าอาจมีหลุมดำขนาดใหญ่กว่าซ่อนอยู่ที่เดียวกันนั้น ซึ่งหม่ากล่าวว่า คำถามว่าหลุมดำสามารถโตขึ้นได้แค่ไหนนั้นมีมูลค่านับล้านเหรียญสหรัฐฯ และตอนนี้นักวิจัยกำลังจับตาดูกาแลกซีที่ใหญ่ที่สุดเพื่อหาคำตอบ


ภาพวาดโดยศิลปินที่แจกจ่ายโดยหอดูดาวเจมินี (Gemini Observatory) ตีพิมพ์ลงเนเจอร์ เผยภาพจำลองหมู่ดาวที่กำลังถูกหลุมดำในใจกลางกาแลกซีดูดกลืน (เอเพี)



ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000155362