นักดาราศาสตร์ยืนยันการมีอยู่จริงของดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่อยู่ไกลออกไป 600 ปีแสง ในระบบดาวฤกษ์ที่ต่างไปจากดวงอาทิตย์ของเรา
ดาวคราะห์ดังกล่าวคือ "เคปเลอร์ 22-บี" (Kepler 22-b) ที่อยู่ไกลออกไป 600 ปีแสง และมีขนาด 2.4 เท่าของโลก มีอุณหภูมิประมาณ 22 องศาเซลเซียส ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ถือเป็นดาวเคราะห์ "เอิร์ธ 2.0" (earth 2.0) หรือ ดาวที่ได้รับการยืนยันแล้วซึ่งใกล้เคียงดาวเคราะห์คล้ายโลกมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ ยังไม่ทราบว่าดาวเคราะห์เคปเลอร์ 22-บี เป็นดาวเคราะห์หิน ดาวเคราะหก๊าซ หรือเป็นดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยของเหลว และระหว่างการประชุมวิชาการที่ทีมนักดาราสาสตร์เผยถึงการค้นพบเรื่องนี้ พวกเขายังบอกอีกว่าได้ค้นพบสิ่งที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์อีก 1,094 ดวง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) ที่ออกแบบมาเพื่อศึกษาดาวฤกษ์ประมาณ 150,000 ดวงในท้องฟ้ายามค่ำคืน และกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ยังมีความไวมากพอที่จะตรวจจับเมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ของตัวเอง จากการวัดความสว่างของดาวฤกษ์ที่ลดลงแม้เพียงเล้กน้อย
กล้องเคปเลอร์จะจำแนกการเปลี่ยนแปลงของแสงที่หรี่ลงเล็กน้อยนี้ให้เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์ จากนั้นจะยืนยันจากการสังเกตเพิ่มเติมด้วยกล้องเคปเลอร์และกล้องโทรทรรศน์อื่นๆ ทั้งที่อยู่ในวงโคจรและอยู่บนโลก ซึ่งดาวเคราะห์เคปเลอร์ 22-บีเป็น 1 ในว่าที่ดาวเคราะห์ 54 ดวง ซึ่งได้รับรายงานการค้นพบโดยทีมวิจัยเคปเลอร์เมื่อเดือน ก.พ.54 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เคปลเอร์ 22-บีจัดเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากการยืนยันการค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อื่น ทั้งนี้ คาดว่าดาวเคราะห์ที่จัดเป็น “เอิร์ธ 2.0” อีกจำนวนหนึ่งจะได้รับการยืนยันในอนาคตอันใกล้นี้
ตำแหน่งที่เคปเลอร์ 22-บีโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองนั้นน้อยกว่าระยะทางระหว่างโลกไปยังดวงอาทิตย์ 15% โดย 1 ปีของดาวเคราะห์ดวงนี้คือ 290 วัน แต่ดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์คล้ายโลกนี้ก็มีแสงน้อยกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 25% ซึ่งทำให้ดาวเคราะห์ที่เราพูดถึงนี้มีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจัด ซึ่งอาจจะเอื้อต่อการมีน้ำในรูปของเหลว
ทีมวิจัยต้องเฝ้ารอเคปเลอร์ 22-บีผ่านหน้าดาวฤกษ์ของตัวเองถึง 3 ครั้ง จึงสามารถเลื่อนฐานะจากการเป็นว่าที่ดาวเคราะห์ที่ “อยู่ระหว่างพิจารณา” เป็นดาวเคราะห์ที่ “ได้รับการยืนยันแล้ว” ซึ่ง วิลเลียม บอรุซกี (William Borucki) นักสังเกตการณ์หลักของกล้องเคปเลอร์จากศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า โชคเข้าข้างพวกเขาให้ตรวจพบดาวเคราะห์ดวงนี้
“ครั้งแรกที่เราจับภาพการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ได้คือ 3 วันหลังจากที่เราประกาศยืนยันความพร้อมในการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เราได้เป็นพยานการผ่านหน้าครั้งที่ 3 ในช่วงเทศกาลวันหยุดประจำปี 2010” บอรุซกีกล่าว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้รายงานผลการค้นพบภายในการประชุมวิชาการสำหรับกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการพบสิ่งที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์จำนวนมาก สำหรับ “ว่าที่ดาวเคราะห์” ที่ค้นพบด้วยกล้องเคปเลอร์นั้นมีถึง 2,326 ดวงแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มี 207 ที่มีขนาดใกล้เคียงโลก ซึ่งเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงโลกไปจนถึงดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่าโลก 4 เท่า ที่เรียกว่า “ซูเปอร์เอิร์ธ” (super-Earth) นั้นอาจมีอยู่มากมายยิ่งกว่าที่คิดก็เป็นได้
ภาพเปรียบเทียบดวาเคราะห์คล้ายโลก "เคปเลอร์ 22-บี" (ซ้ายสุด) ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ที่ระยะใกล้กว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 15% ซึ่งทั้งเคปเลอร์ 22-บี ในระบบดาวฤกษ์เคปเลอร์ 22 และ โลก (ที่ 2 จากขวา) พร้อมดาวเพื่อนบ้าน ดาวอังคาร (ที่ 1 ขวา) ดาวศุกร์ (ที่ 3 ขวา) และดาวพุธ (ที่ 4 ขวา) ล้วนอยู่ในบริเวณที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (habitable zone) ภาพจากบีบีซีนิวส์
ภาพแสดงส่วนประกอบของกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ (บีบีซีนิวส์)
ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000155166