วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฮือฮา พบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพันธุ์ใหม่หน้าตาประหลาด คล้าย"ไส้เดือนผสมงู" ในอินเดีย


ฮือฮา พบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพันธุ์ใหม่หน้าตาประหลาด คล้าย"ไส้เดือนผสมงู" ในอินเดีย
คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบตระกูลสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำไร้ขาพันธุ์ใหม่ ที่มีหน้าตาคล้ายงูและไส้เดือน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

สัตว์สายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อมองในครั้งแรกมีความคล้ายคลึงกับไส้เดือนเป็นอย่างมาก ถูกขุดพบตามโคลนดินที่อยู่ในป่า และมีความใกล้ชิด กับสัตว์สกุลซีซิเลียน (Caecilians) หรือสัตว์พวกเขียดงู หรือชื่อเดิมคืองูดิน จัดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่มีเกล็ด ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และเอเชียใต้  โดยเพศเมียจะคอยฟักไข่เป็นเวลา 2-3 เดือนโดยไม่กินอะไรเลย

คณะนักวิทยาศาสตร์ออกวิจัยเป็นเวลา 5 ปีตามพื้นที่ห่างไกลในรัฐสิกขิม อรุณาจัลประเทศ และนาคาแลนด์จนพบสัตว์ในกลุ่มซีซิเลียนไร้ขาผิวหนังเรียบลื่น ขนาดลำตัวยาว 8 นิ้ว อาศัยอยู่ในดินชุ่มชื้นหรือขุดโพรงอยู่ในชั้นใต้ดิน

 ศ.เอส.ดี บิจู แห่งมหาวิทยาลัยเดลีของอินเดีย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับทีมวิจัยจากอังกฤษและเบลเยียม กล่าวว่า หลังการค้นพบ ไม่สามารถระบุได้ว่ามันอยู่ในสปีชีส์, สกุล หรือวงศ์ใด แต่หลังจากการวิเคราะห์ด้านสัณฐานวิทยา และดีเอ็นเอแล้ว ยืนยันได้ว่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตระกูลใหม่ ซึ่งถือเป็นสัตว์ตระกูลซีซิเลียนพันธุ์ที่ 10 ซึ่งแยกมาจากสัตว์สกุลที่ใกล้ที่สุดที่อาศัยในแอฟริกาเมื่อกว่า 140 ล้านปีก่อน โดยได้รับการตั้งชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า "Chikilidae" ซึ่งดัดแปลงมาจากภาษากาโร ที่ใช้เรียกมันในเขตที่มีการค้นพบ

เขากล่าวว่าการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาคุกคามของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก ซึ่งการค้นพบครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราต้องช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาธรรมชาติเอาไว้ ซึ่งภัยคุกคามของมันก็คือ ชาวบ้านที่ฆ่ามันเพราะคิดว่าเป็นงูพิษ

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า สัตว์จำพวกนี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องมาจากการเติบโตของประชากรและพื้นที่เมือง รวมถึงการเพาะปลูกและเผาพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนั้น พวกมันยังเป็นสัตว์ที่สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมักจะอาศัยอยู่ในพื้นดินหรือไม่ก็เศษซากใบไม้ที่จมอยู่ในโคลน

ยอมให้ลูกกินผิวหนังตนเองเป็นอาหาร

เขียดงู (อังกฤษ: Caecilian, อันดับ: Gymnophiona) เป็นอันดับของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอันดับหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnophiona

มีลักษณะโดยรวมของรูปร่าง คือ ลำตัวเรียวยาวคล้ายงูหรือปลาไหล มีทั้งอาศัยอยู่บนบก ในโพรงดิน และในน้ำ โดยลดรูปโครงสร้างหลายประการซึ่งเป็นลักษณะที่พบกับสัตว์ที่มีลำตัวเรียวยาวหรืออาศัยอยู่ในโพรง กล่าว คือ หางมีขนาดเล็กมากหรือไม่มีเลย ไม่มีรยางค์ขาหรือฐานรยางค์ แต่ในสกุล Eocaecilia ที่เป็นซากดึกดำบรรพ์มีรยางค์ขา ตามีขนาดเล็กและบางชนิดอยู่ในร่องของกระดูกกะโหลกและถูกชั้นหนังปกคลุมไว้ ปอดข้างซ้ายมีขนาดเล็กหรือไม่มี ขณะที่บางวงศ์ที่อาศัยอยู่ในน้ำจะไม่มีปอด บางชนิดมีเกล็ดฝังตัวอยู่ในร่องที่แบ่งลำตัวเป็นปล้อง การปฏิสนธิเกิดขึ้นภายใน โดยตัวผู้จะมีอวัยวะถ่ายอสุจิเจริญจากผนังของห้องทวารร่วม บางชนิดวางไข่ในน้ำ และมีระยะเวลาของวัยอ่อนและบางชนิดวางไข่บนบกโดยไม่มีระยะวัยอ่อน ตัวเมียมีพฤติกรรมเฝ้าไข่ แต่เขียดงูส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 75 ออกลูกเป็นตัว วัยอ่อนภายในท่อนำไข่ได้รับสารอาหารจากสิ่งผลิตภายในท่อนำไข่

มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวเป็นปล้อง ปล้องของลำตัวโดยทั่วไปมีจำนานเท่ากับจำนวนปล้องของกระดูกสันหลัง แต่บางชนิดอาจมีปล้องลำตัวจำนวนสองปล้องหรืออาจจะถึงสามปล้องต่อกระดูกสันหลังหนึ่งปล้อง โดยปล้องลำตัวปฐมภูมิเจริญขึ้นมาก่อนต่อจากนั้นจึงมีปล้องลำตัวทุติยภูมิหรือปล้องลำตัวตติยภูมิเจริญขึ้นมาเป็นลำดับต่อมา เกล็ดของเขียดงูประกอบด้วยคอลลาเจนหลายชั้นเรียงซ้อนกันและฝังตัวอยู่ในร่องตรงส่วนลึกที่สุดของปล้องลำตัวปฐมภูมิ โดยเรียงเป็นลำดับต่อเนื่องกันในแนวเฉียง

กะโหลกของเขียดงูมีชิ้นของกระดูกยึดติดกันแข็งแรงและส่วนใหญ่ไม่มีช่องเปิดที่กะโหลก นอกจากช่องเปิดของอวัยวะรับความรู้สึก ได้แก่ ตา, จมูก, หนวด ในบางวงศ์มีช่องเปิดบริเวณขมับ กระดูกกะโหลกจึงขยับได้บ้าง ฟันที่ขากรรไกรบนอยู่บนกระดูกพรีแมคซิลลา กระดูกแมคซิลโลพาลาทีนและกระดูกโวเมอร์ มีอวัยวะรับรู้จำเพาะ คือ อวัยวะที่แลดูคล้ายหนวด ที่เจริญขึ้นมาจากช่องเปิดที่อยู่ระหว่างตากับช่องเปิดจมูก ตำแหน่งของช่องเปิดหนวดแตกต่างกันในแต่ละชนิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการอนุกรมวิธาน สัดส่วนความยาวของหนวดที่โผล่พ้นช่องเปิดออกมาก็แตกต่างกันในแต่ละวงศ์ โดยหนวดเป็นโครงสร้างเชิงซ้อนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ, ต่อม และท่อ การเจริญของหนวดสัมพันธ์กับตาและอวัยวะจาคอบสัน ซึ่งทำหน้าที่รับรู้สารเคมี

เขียดงูแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 6 วงศ์ (ในขณะที่บางข้อมูลแบ่งเพียง 3 วงศ์)โดยใช้หลักการแบ่งทางรูปร่างโครโมโซมและลักษณะทางโมเลกุล และสันฐานวิทยา โดยมีทั้งหมดราว 174 ชนิด ใน 33 สกุล กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ยกเว้นบนเกาะมาดากัสการ์และทางตะวันออกของเส้นสมมติวอลเลซ ในประเทศไทยพบได้ 1 วงศ์ เช่น เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis) เป็นต้น
การจำแนก (วงศ์)
- Rhinatrematidae
- Ichthyophiidae
- Uraetyphidae
- Scolecomorphidae
- Caecililidae
- Typhlonectidae


ส่วนหน้าของเขียดงูไม่ทราบชนิด (Ichthyophis sp.) ในวงศ์เขียดงู (Ichthyophiidae)


การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร : Animalia
ไฟลัม : Chordata
ชั้น : Amphibia
ชั้นย่อย : Lissamphibia
อันดับ : Gymnophiona


ที่มาข้อมูล
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329911682&grpid=01&catid=&subcatid=
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%B9