วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

ยานอวกาศ Shenzhou

ยานอวกาศ Shenzhou

ถ้าเป็นไปตามความคาดหมายของผู้เชี่ยวชาญการศึกษากิจการอวกาศของจีน จีนกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ โดยการส่งนักบินอวกาศคนแรก ขึ้นไปในอวกาศกับยานเสินโจว 5 ในราวกลางเดือนตุลาคม ศกนี้

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวว่า การเตรียมการส่งยานอวกาศเที่ยวบินประวัติศาสตร์นี้ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าจะยังไม่กำหนดวันเวลาในการส่งยานอวกาศที่แน่นอนก็ตาม หากจีนประสบความสำเร็จนั่นก็หมายความว่า จีนได้แซงหน้าองค์การอวกาศยุโรปและญี่ปุ่นที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปกับยานอวกาศที่สร้างขึ้นเองได้ แผนงานต่อไปของจีนคือ การส่งยานที่ไม่มีนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สร้างสถานีอวกาศและส่งนักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ในปี 2020 ปีเดียวกันกับองค์การนาซ่าจะส่งมนุษย์อวกาศเหยียบดาวอังคาร
นอกจากนั้นจีนยังมีแผนความร่วมมือทางอวกาศกับองค์การนาซ่าของสหรัฐและรัสเซีย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนกับรัสเซียก็ได้กำหนดแนวทางในการสำรวจอวกาศร่วมกันในอนาคตไปแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายนจีนก็ได้บรรลุข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการดาวเทียมนำร่อง ”กาลิเลโอ” กับประเทศในกลุ่มอียูซึ่งมี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอิตาลี เป็นหุ้นส่วนใหญ เป็นที่คาดหมายกันว่าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางอวกาศ ชาติที่สามของโลกต่อจาก รัสเซียและสหรัฐอเมริกาในเวลาอีกไม่นานนัก ในขณะที่อินเดียก็กำลังพัฒนางานด้านอวกาศไล่กวดตามมาติดๆ โดยอินเดียเพิ่งประกาศว่า จะส่งยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ในปี 2008 โรเจอร์ ลอนเนียส หัวหน้าแผนกประวัติศาสตร์อวกาศ ของพิพิธภัณฑ์อวกาศและการบินแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียนบอกว่า “ผมตื่นเต้นที่มีชาติที่สามลงทุนส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศ และในไม่ช้านี้ก็จะร่วมมือ กับสหรัฐและรัสเซียในการทดลองใหญ่ๆ มันชัดเจนว่าจีนกำลังแสวงหาการแสดงออกให้โลกได้รับรู้ถึงพลังอำนาจของประเทศจากปฏิบัติการนี้”

แต่ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศของจีนไม่เพียงแต่ทำให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกจับตามองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จีนยังถูกมองอย่างกังวลใจว่าอาจจะมีเป้าหมาย ทางทหารอยู่ด้วย นักการทหารของชาติมหาอำนาจตะวันตกเชื่อว่าแรงจูงใจสำคัญ ในการพัฒนาด้านอวกาศของจีนมาจากเป้าหมายทางการทหาร รายงานประจำปีของThe US Department of Defense กระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือเพนตากอนชื่อว่า The Military Power of The People’s Republic of China ที่เสนอต่อสภาคองเกรสเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พุ่งประเด็นไปที่สถานะปัจจุบันและ ความเป็นไปได้ของความเติบโตในด้านเทคโนโลยีทางการทหารของจีนในอนาคต ซึ่งรวมทั้งการใช้อวกาศเพื่อประกันความได้เปรียบทางการทหารด้วย “ปักกิ่งอาจจะมีเครื่องมือเลเซอร์พลังงานสูงในครอบครอง ซึ่งสามารถใช้พัฒนาอาวุธเลเซอร์ภาคพื้นดินสำหรับต่อกรกับดาวเทียมติดอาวุธ” รายงานดังกล่าวระบุ


โครงการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศของจีนมีชื่อว่าโปรเจ็ค 921ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อปี 1992 โครงการนี้มีองค์กรในภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมมากกว่า 3000 องค์กร และมีนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งเทคนิเชี่ยนเข้าร่วมจำนวนหลายหมื่นคน นับตั้งแต่ปี 1993 ถึงต้นปี 2003 จีนประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโครงการนี้ โดยสามารถส่งยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศไปโคจรรอบโลกมาแล้ว4 ลำ คือ ยานเสินโจว 1-4 เทคโนโลยีของจีนก้าวหน้ามากทีเดียว นักวิทยาศาสตร์จีนทดสอบการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศในยานเสินโจว โดยใช้หุ่นจำลองมนุษย์ที่เรียกว่าไทโคบอท[Taiko Bot] แทนที่จะใช้สัตว์ทดลองเหมือนยุคแรกเริ่มของรัสเซียและสหรัฐ
ปฎิบัติการครั้งสุดท้ายกับยาน เสินโจว 4 ทำความมั่นใจให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของโครงการอย่างมาก เสินโจว 4 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2002 มันโคจรรอบโลกได้นาน 1 สัปดาห์ และสามารถปล่อยแคปซูลซึ่งเป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศลงสู่พื้นโลก บริเวณทุ่งหญ้าในมองโกเลียได้อย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์จีนก็คิดว่าการส่งยานเสินโจว 5 ยังเป็นความกดดันพวกเขาอยู่ หวัง ชุนผิง หัวหน้าทีมควบคุมการปล่อยจรวดลองมาร์ช 2 F บอกว่า มันเป็นความกดดันที่สูงมากทีเดียวที่จะประกันความพร้อมในการส่งยาน ขณะที่รัสเซียและสหรัฐเคยทดสอบการปล่อยจรวดที่ไม่มีนักบินอวกาศนับสิบครั้ง ก่อนที่ส่งนักบินอวกาศคนแรกขึ้นไปในอวกาศ ตรงข้ามกับจีนซึ่งมีประสบการณ์เพียงสี่ครั้งเท่านั้น จรวดที่ใช้ส่งยานเสินโจวคือ จรวด เฉินเจี้ยน-ลองมาร์ช 2 F หนึ่งในแปดแบบของจรวดตระกูลลองมาร์ช ซึ่งจีนพัฒนาสำหรับใช้ส่งดาวเทียมและยานอวกาศ ลองมาร์ช 2F เป็นจรวดที่ทันสมัยที่สุด มันถูกพัฒนาระบบนำทางและระบบควบคุม รวมทั้งอัพเกรดเครื่องยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ ส่วนยานเสินโจวนั้นมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับยานโซยูซของรัสเซีย แต่จีนใช้เทคโนโลยีของตนเอง


เสินโจว 5 ประกอบด้วย 3 โมดูล
โมดูลแรกอยู่ด้านหน้า เป็นส่วนของเครื่องมือวิทยาศาสตร์
โมดูลที่สองอยู่ตรงกลางเป็นที่อยู่ของนักบินอวกาศซึ่งออกแบบไว้สำหรับนักบินอวกาศจำนวนสามคน
โมดูลที่สามอยู่ด้านท้ายคือโมดูลบริการ ซึ่งมีแผงรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ อีเลคโทรนิคเกียร์และเครื่องยนต์ของยาน


ฟิลลิป คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญกิจการอวกาศของจีนและรัสเซียเชื่อว่ายานเสินโจวมีความปลอดภัยมากกว่ายานโซยูซ และคิดว่าเที่ยวบินของเสินโจว 5 จะสวยงามและเรียบง่าย จรวดลองมาร์ช 2F จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ณ ศูนย์ส่งดาวเทียมและยานอวกาศจิวฉวน จังหวัดกานซู และแคปซูลของยานอวกาศจะลงสู่พื้นโลกบริเวณทุ่งหญ้าในมองโกเลีย ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จีนมีแผนที่จะเชื่อมต่อยานเสินโจวสองลำในอวกาศ และหลังจากภารกิจของยานเสินโจว 5 สิ้นสุดลง เป็นไปได้ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี จีนอาจจะส่งยานเสินโจวที่นำนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศอีก 2 ลำ โดยยานแต่ละลำจะมีนักบินอวกาศหลายคน ปฎิบัติการของยานเสินโจวจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากทีเดียว


ที่มา
http://www.darasart.com/spacecraft/main.htm