วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555


ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ วันที่ 8 มิถุนายน 2547 (ภาพ - Vincent Yu/AP)


ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนมาอยู่ในแนวระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ คนบนโลกมีโอกาสเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นดวงกลมดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 ประเทศไทยสามารถสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 11:50 น. โดยดาวศุกร์เริ่มผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตั้งแต่ประมาณ 20 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นที่ประเทศไทย วันนั้นดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 33 เท่า

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เกิดเป็นคู่ ภายในคู่ห่างกัน 8 ปี แต่ละคู่ห่างกัน 105 หรือ 120 ปี ระยะห่างระหว่างแต่ละครั้งจะมีรูปแบบที่แน่นอน คือ 8, 121.5, 8 และ 105.5 ปี และวนซ้ำกันเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ซึ่งเห็นได้ในประเทศไทย หลังจากครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบันทั้งหมด จะไม่มีโอกาสได้เห็นดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อีก เพราะดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์คู่ถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 (ค.ศ. 2117) และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2668 (ค.ศ. 2125)

แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ทำให้การสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จากสถานที่ต่างกัน ให้เวลาสัมผัสที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ที่กรุงเทพฯ สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:49:51 น. แต่ที่โตเกียว สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:47:27 น. ตามเวลาในเขตเวลาเดียวกัน (ถ้าแปลงเป็นเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นต้องบวก 2 ชั่วโมง) เป็นต้น

พื้นที่ที่เห็นปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดคือประเทศทางด้านตะวันออกของเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ด้านตะวันออกของจีน มองโกเลีย ด้านตะวันออกของรัสเซีย ด้านตะวันออกของออสเตรเลีย เกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์ ฮาวาย ด้านตะวันตกของแคนาดา และรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น คือดาวศุกร์ได้เคลื่อนเข้ามาในดวงอาทิตย์แล้วก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ได้แก่ เกือบทั้งหมดของยุโรป ตะวันออกกลาง ด้านตะวันออกของแอฟริกา ด้านตะวันตกของเอเชีย ด้านตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งประเทศไทย) และด้านตะวันตกของออสเตรเลีย

พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ตก คือดวงอาทิตย์ตกขณะที่ดาวศุกร์ยังอยู่ในดวงอาทิตย์ ได้แก่ ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ ซึ่งพื้นที่นี้ยังเป็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น



ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555 ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย ส่วนทวีปอเมริกาเหนือและใต้จะเห็นได้ในเย็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ภาพนี้แสดงเวลาที่ดาวศุกร์สัมผัสขอบดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 สัมผัส ตามเวลาประเทศไทย โดยสมมุติว่าสังเกตการณ์จากศูนย์กลางโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือสังเกตจากผิวโลกขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดเหนือศีรษะ แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ ทำให้เวลาที่มองเห็นดาวศุกร์แตะขอบดวงอาทิตย์จากสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน สำหรับกรุงเทพฯ จะเห็นได้เฉพาะสัมผัสที่ 3 และ 4 เกิดขึ้นในเวลา 11:32:28 น. และ 11:49:51 น. ตามลำดับ

ที่มา
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2012eclipses.html

การจัดประเภทของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์

การจัดประเภทของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์


ภาพการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ในระดับ X1.9 เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Solar Dynamics Observatory (SDO)
เครดิต : NASA / SDO


การระเบิดขนาดยักษ์บนดวงอาทิตย์ก่อให้เกิดการลุกจ้าและส่งพลังงานแสงรวมทั้งอนุภาคความเร็วสูงออกสู่อวกาศ การลุกจ้าเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับการเกิดพายุพลังงานแม่เหล็กดวงอาทิตย์หรือที่รู้จักกันในชื่อพายุสุริยะเป็นการปลดปล่อยมวลโคโรนา Coronal Mass Ejections (CMEs) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบมากบนดวงอาทิตย์ในขณะนี้ นอกจากนั้นดวงอาทิตย์ยังสามารถปล่อยกระแสโปรตรอนได้อย่างรวดเร็ว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ Solar Energetic Particle (SEP) และการแปรปรวนของลมสุริยะ Corotating Interaction Regions (CIRs) ทั้งหมดนี้สามารถก่อให้เกิดพายุสุริยะที่แตกต่างกัน การเกิดพายุสุริยะหากมีความรุนแรงอาจไปรบกวนระบบ การส่ือสาร วิทยุคลื่นระยะสั้น สัญญาณGPS และสายไฟฟ้าบนโลกได้

ปริมาณกิจกรรมบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นประมาณทุกๆ 11 ปี และในขณะที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปสู่ช่วงที่มีจุดบนดวงอาทิตย์สูงสุดซึ่งมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในช่วงประมาณปี 2013 นั้นหมายความว่าดวงอาทิตย์จะเกิดการปล่อยพลังงานจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น

องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา หรือ (NOAA) ได้มีการวางแผนจำแนกหมวดหมู่ของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ และพายุสุริยะ โดยการลุกจ้าขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์นี้ จะเรียกว่า การลุกจ้าระดับ X ซึ่งการจำแนกการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์จะแบ่งตามระดับความรุนแรงของการลุกจ้า โดยการลุกจ้าขนาดเล็กที่สุดจะอยู่ในระดับ A - class ตามด้วย B,C,M, และ X คล้ายกับมาตราริกเตอร์วัดแผ่นดินไหว ซึ่งจะแสดงถึงพลังงานที่เกิดจากการลุกจ้าเพิ่มขึ้น 10 เท่าของตัวอักษรแต่ละตัว ดังนั้น X จะมีค่าพลังงาน 10 เท่า ของระดับ M และจะมีค่าพลังงานเป็น 100 เท่าของระดับ C ซึ่งหมายความว่าในแต่ละตัวอักษรจะมีตัวเลขระดับขนาด 1-9 ระดับ

หากจะกล่าวถึงผลกระทบจากการลุกจ้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ข้อมูลว่า การลุกจ้าระดับ C จะมีพลังงานที่อ่อนเกินกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อโลก แต่ในระดับ M สามารก่อให้เกิดความเสียหายตอวิทยุคลื่นส้ันๆ และยังมีพายุรังสีที่อาจเป็นอันตรายกับนักบินอวกาศ และการลุกจ้าระดับ X แม้ว่า X1 จะเป็นตัวอักษรลำดับสุุดท้าย แต่พลังงานจากการลุกจ้าก่อให้เกิดพลังงานมากกว่า 10 ระดับ ดังนั้นการลุกจ้าในระดับ X สามารถก่อให้เกิดพลังงานสูงกว่าระดับ 9 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอิเลคทรอนิคบนโลก สำหรับการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ที่มีความรุนแรงที่สุดที่วัดได้โดยวิธีที่ทันสมัยเม่ือปี 2003 ในช่วงที่มีจุดบนดวงอาทิตย์สูงสุด ซึ่งเซนเซอร์สามารถวัดได้ในระดับที่ X15 แต่จากการคาดการณ์คาดว่าจะสูงถึงระดับ X28

เนื่องจากปัจจุบันดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงที่มีจุดบนดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจนถึงช่วงที่มีจุดบนดวงอาทิตย์สูงสุดจึงทำให้เราเห็นการเกิดกิจกรรมบนดวงอาทิตย์มากขึ้น การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ระดับ X ครั้งแรกของวัฏจักรสุริยะปะทุขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2011 และมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เมื่อวันที 23 มกราคม 2012 ดวงอาทิตย์ได้ปลดปล่อยพลังงานที่ระดับ M8.7


ภาพการปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ solar energetic particle (SEP) ที่ก่อให้เกิดการรบกวนที่ดูเหมือนมีหิมะ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2012 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Solar Heliospheric Observatory (SOHO) เครดิต : SOHO / ESA และ NASA


ทั้งนี้องค์การนาซา, องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา (NOAA),หน่วยงานกองทัพอากาศสหรัฐ (AFWA) และอืนๆ ได้เฝ้าสังเกตการณ์ค่าพลังงานที่เกิดจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ว่าอยู่ในระดับใด และจะมีความรุนแรงมากพอที่จะเป็นพายุสุริยะได้หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพือป้องกันผลกระทบกับยานอวกาศ ดาวเทียม และระบบเทคโนโลยี เป็นต้น

ที่มา
http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=351:-coronal-mass-ejections&catid=1:astronomy-news&Itemid=4

แปลกตา คลื่นหมอกสึนามิที่ชายหาดฟลอริด้า

ปรากฎการณ์แปลกตา คลื่นหมอกสึนามิที่ชายหาดฟลอริด้า









ตระการตา! ภาพความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ คลื่นหมอกสึนามิ กำลังซัดเข้าหาชายหาดในรัฐฟลอริด้า

เว็บไซต์เดลิเมล ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่งเป็น "คลื่นหมอกสึนามิ" โถมเข้าใส่ตึกบริเวณริมชายหาดปานามา ซิตี้ ในรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างความตกตะลึงในความสวยงามของมันให้กับคนขับเฮลิคอปเตอร์ที่บังเอิญขับผ่านไป เขาจึงได้เก็บภาพความประทับใจนั้นเอามาแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ชื่นชมลงในเฟซบุ๊กของเขา ในชื่อบัญชี "Panhandle Helicopter"



โดยภาพคลื่นยักษ์นี้ ถูกถ่ายด้วยฝีมือของ นายเจอาร์ ฮอตต์ คนขับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งขณะนั้นเขากำลังขับบินอยู่เหนือชายฝั่ง ทันใดนั้นเขาก็เห็นคลื่นหมอกนี้กำลังถาโถมเข้ามา จึงรีบบินฉีกตัวหนีออกไปเพื่อหามุมดี ๆ ที่จะเก็บภาพเอาไว้ และเมื่อหามุมที่ต้องการได้แล้ว เขาจึงรีบนำกล้องออกมาถ่ายเอาไว้อย่างไม่รีรอ เพราะกลัวว่าหมอกจะหายไปเสียก่อน และเพียงไม่กี่นาทีที่เขานำเครื่องลงที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ คลื่นก็ลงมาปกคลุมทั่วทั้งบริเวณ ซึ่งภาพถ่ายที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นถึงคลื่นหมอกที่สูงเหนือตึกลอยซัดเข้าไปเป็นทิวแถวอย่างสวยงาม และเขายืนยันว่าภาพถ่ายไม่ได้มีการตัดต่อแม้แต่นิดเดียว



ทางด้าน ดร.เกรค ฟอร์บส จากเว็บไซต์ Weather.com กล่าวถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่น บวกกับความชื้นในอากาศมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากจึงทำให้เกิดหมอก แล้วเมื่อโดนแรงลมพัดเข้ามาจึงทำให้เกิดการกระจายตัวเป็นลักษณะลูกคลื่นพัดเข้าหาชายฝั่งตามภาพที่ปรากฏ

ดร.เกรค กล่าวเสริมอีกว่า ความชื้นในอากาศกับสภาพอากาศนั้นจะต้องรวมตัวกันได้อย่างพอดิบพอดีเท่านั้น ถึงจะเกิดคลื่นหมอกได้ ดังนั้นมันจึงอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ในทุก ๆ วัน

ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/67444

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทอร์นาโด (tornado)

ทอร์นาโด (tornado อ่านว่า ทอร์เนโด)
เป็นพายุที่เกิดจากการหมุนของอากาศ สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ โดยลักษณะที่พบได้บ่อยสุดคือลักษณะรูปทรงกรวย โดยส่วนปลายโคนชี้ลงที่พื้น ทอร์นาโดสามารถก่อพลังทำลายได้สูง โดยความเร็วลมสามารถสูงมากถึง 500 กม/ชม (300 ไมล์/ชม) ซึ่งก่อให้เกิดการพังทลายของสิ่งก่อสร้างได้

ทอร์นาโดเกิดขึ้นจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุน และเมื่อลมหมุนในระดับที่ไม่คงที่ ทำให้ปลายข้างหนึ่งลงมาสัมผัสที่พื้นก่อให้เกิดทอร์นาโดได้ โดยทอร์นาโดสามารถส่วนใหญ่เกิดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่สามารถก่อให้เกิดลมร้อนและไอเย็นปะทะกันบริเวณทุ่งราบ



ทอร์นาโดแบ่งออกเป็นรายระดับตามกำลังทำลายและความเร็วลม โดยแบ่งเป็น F0 - F5 โดย F0 เป็นทอร์นาโดที่อ่อนกำลังสุด และ F5 เป็นทอร์นาโดที่กำลังแรงสุด

การจำแนกระดับของทอร์นาโด จะยึดตาม Fujita scale ซึ่งกำหนดให้พายุในแต่ละระดับมีความแรงดังนี้

พายุ F0 ความเร็วลม 64-116 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุ F1 ความเร็วลม 117-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุ F2 ความเร็วลม 181-253 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุ F3 ความเร็วลม 254-332 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุ F4 ความเร็วลม 333-418 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุ F5 ความเร็วลม 419-512 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จากการสำรวจเก็บสถิติ พบว่า ทุกๆ การเกิดพายุทอร์นาโด 1,000 ครั้ง จะเป็นระดับ F0 จำนวนประมาณ 389 ครั้ง , ระดับ F1 จำนวนประมาณ 356 ครั้ง , ระดับ F2 จำนวนประมาณ 194 ครั้ง , ระดับ F3 จำนวนประมาณ 49 ครั้ง , ระดับ F4 จำนวนประมาณ 11 ครั้ง และระดับ F5 จำนวนประมาณ 1 ครั้ง

ความแรงของพายุ ส่งผลกับขนาด และการสลายตัวของพายุด้วย พายุระดับ F0-F1 อาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 100 เมตร และเคลื่อนตัวไปได้ไม่กี่กิโลเมตรก็สลายตัวไป ในขณะที่พายุ F5 อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1,600 เมตร และเคลื่อนตัวไปได้มากกว่า 100 กิโลเมตรก่อนจะสลายตัว ซึ่งการที่พายุที่ระดับสูงกว่าจะทำให้พายุมีขนาดใหญ่และสลายตัวช้าด้วย

ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1925 ในสหรัฐอเมริกา เกิดพายุทอร์นาโดขึ้นพร้อมกัน 9 ลูก เป็น F2 จำนวน 2 ลูก , F3 จำนวน 4 ลูก , F4 จำนวน 2 ลูก และ F5 จำนวน 1 ลูก เคลื่อนตัวถล่มมลรัฐมิสซูรี่ , อิลลินอยส์ , อินเดียนา , เคนทักกี , เทนเนสซี , อลาบามา และ มลรัฐแคนซัส มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 747 คน ซึ่งในจำนวนนั้น เฉพาะพายุ F5 เพียงลูกเดียวนั้น คร่าชีวิตผู้คนไป 695 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากพายุลูกอื่นๆ อีก 8 ลูก รวมกัน ได้เพียง 50 กว่าคนเท่านั้น ทำให้พายุ F5 ลูกนั้นที่เกิดขึ้นเป็นพายุทอร์นาโดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินมีมูลค่าเทียบเป็นปัจจุบันได้มากกว่า 1862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สาเหตุการเกิด

เนื่องมาจากการเกิดกลุ่มของอากาศที่เย็นกว่าลอยผ่านเข้าไปใต้กลุ่มของอากาศที่ ่อบอุ่นกว่าจึงทำให้เกิด การถ่ายเทอากาศหมุนเวียนกันขึ้นในเขตจำกัด และเป็นไปได้ โดยรวดเร็วใกล้ ๆ จุดศูนย์กลางจะมีกระแสลม หมุนเร็วที่สุดจนทำให้เกิดลำอากาศเป็น เกลียวตั้งสูงขึ้นไปในท้องฟ้า ถัดออกมาทางขอบนอกอัตราเร็วของการ หมุนค่อยๆ ช้า ลง แต่กระนั้นก็ตามที่ขอบนอกของมันก็มีความแรงพอที่จะพัดเอาบ้านทั้งหลังให้พังไป ได้อย่าง ง่ายดาย


ทอร์นาโดเกิดขึ้นจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุน และเมื่อ ลมหมุนในระดับที่ไม่คงที่ ทำให้ปลายข้างหนึ่งลงมาสัมผัสที่พื้นก่อให้เกิดทอร์นาโดได้โดยทอร์นาโดสามารถส่วนใหญ่เกิดในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ สามารถก่อให้เกิดลมร้อนและไอเย็นปะทะกันบริเวณทุ่งราบ



พายุลูกเห็บ

ลูกเห็บ (Hail)
เป็นก้อนน้ำลักษณะเหมือนน้ำแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรของน้ำ โดยตกลงมาจากบรรยากาศในรูปของแข็ง โดยจะมีรูปร่างเป็นก้อนน้ำแข็งรูปร่างไม่แน่นอน เกิดจากละอองหยาดฝนซึ่งเย็นแบบยิ่งยวด (ยังอยู่ในสภาพของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง) ในเมฆฝน ปะทะกับวัตถุแข็ง เช่น ผงฝุ่น หรือ ก้อนลูกเห็บที่เกาะตัวอยู่ก่อนแล้ว และแข็งตัวเกาะรอบวัตถุนั้น ๆ เป็นก้อนลูกเห็บ ก้อนลูกเห็บนี้อาจลอยตัวก่อเป็นก้อนอยู่เบื้องบนเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะตกลงมา เนื่องจากลมที่พัดพาอยู่เบื้องบน ดังนั้นลูกเห็บอาจเกาะตัวจนเป็นก้อนใหญ่มีน้ำหนักเกินกว่าที่ลมจะพัดให้ลอยอยู่ได้และตกลงมา

ดูพายุลูกเห็บ ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน



ฝนลูกเห็บมักจะมากับ พายุฝนที่รุนแรง และมักจะมีอากาศเย็น โดยที่อุณหภูมิของชั้นอากาศที่อยู่สูงนั้นเย็นกว่าอากาศที่อยู่ต่ำมาก ลูกเห็บขนาดเล็กจะถูกพัดพาสะท้อนขึ้นลงอยุ่ระหว่างชั้นบรรยากาศที่อากาศเย็นและร้อน เนื่องจากการลอยตัวขึ้นของอากาศร้อนและแรงดึงดูดของโลก ลูกเห็บที่ลอยตัวอยู่นานก็จะมีขนาดใหญ่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลูกเห็บขนาดใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในเขตที่มีอากาศร้อน เนื่องมาจากการลอยตัวขึ้นที่รุนแรงของอากาศร้อน และยังสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย

ลูกเห็บส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่บางทีอาจมีขนาดใหญ่ถึงหลายเซนติเมตรหรือใหญ่กว่านั้น ลูกเห็บขนาดเมล็ดถั่วจนถึงขนาดลูกกอล์ฟนั้นเป็นขนาดที่พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อผ่าลูกเห็บออกจะเห็นชั้นหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ จำนวนชั้นบอกได้ว่าลูกเห็บนี้ถูกพัดขึ้นไปสูงขึ้นกี่ครั้ง โดยชั้นข้างในจะมีสีน้ำเงิน แล้วชั้นต่อไปสีจะจางลงเรื่อยๆ จนถึงสีขาว

สถิติของลูกเห็บที่หนักที่สุดในโลกนั้น ตกที่ เมืองคอฟฟีย์วิลล์ (Coffeyville) รัฐแคนซัส ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยหนักถึง 770 กรัม (หรือ 1.7 ปอนด์) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร (5.7 นิ้ว) ส่วนลูกเห็บที่ขนาดใหญ่ที่สุดนั้นตกที่ ออโรรา (Aurora) รัฐเนบราสกา ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17.8 เซนติเมตร (7 นิ้ว) แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า อาจเนื่องมาจากมีบางส่วนแตกหลุดไปในระหว่างตกกระทบบ้าน

การตกลงมาของน้ำแข็งอีกประเภทที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกเห็บเรียกว่า megacryometeors


ที่เชียงใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิทยาศาสตร์สำหรับชั้นประถมศึกษา: ฮือฮา! นักวิทย์กีวีจับ “โคตรกุ้ง” ได้นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์

วิทยาศาสตร์สำหรับชั้นประถมศึกษา: ฮือฮา! นักวิทย์กีวีจับ “โคตรกุ้ง” ได้นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์

ฮือฮา! นักวิทย์กีวีจับ “โคตรกุ้ง” ได้นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์

ฮือฮา! นักวิทย์กีวีจับ “โคตรกุ้ง” ได้นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์


เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ชาวกีวีพบสัตว์ทะเลเปลือกแข็งหน้าตาประหลาดที่ความลึก 7 กิโลเมตรนอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ โดยพวกมันมีลักษณะคล้ายกุ้ง ทว่าขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์ใกล้เคียงถึง 10 เท่า

“แอมฟิพอดยักษ์” (Supergiant amphipod) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกุ้งประหลาด ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน และสถาบันวิจัยทางทะเล NIWA ในกรุงเวลลิงตัน ซึ่งกำลังทำการสำรวจร่องน้ำเคอร์มาเด็ค (Kermadec Trench) นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ หนึ่งในร่องน้ำที่มีความลึกที่สุดในโลก

แอมฟิพอดทั่วไปจะมีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ซึ่ง อลัน เจมีสัน จากมหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน เผยว่า เขาถึงกับอึ้งเมื่อพบเจ้าตัวที่มีความยาวถึง 28 เซนติเมตร ระหว่างตรวจดูกับดักสัตว์น้ำบนเรือวิจัย

“ผมชะงัก และถามตัวเองว่านี่มันตัวอะไรกัน? ตัวมันใหญ่มากจนไม่น่าเป็นไปได้” เจมีสัน กล่าว

“ผมรู้สึกเหมือนเจอแมลงสาบตัวยาว 1 ฟุต”

แอมฟิพอดอีกตัวหนึ่งซึ่งเรือสำรวจสามารถเก็บภาพไว้ได้แต่ไม่จับขึ้นมา มีความยาวถึง 34 เซนติเมตร

“มันชี้ให้เห็นว่า ยิ่งคุณมองออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบสัตว์แปลกๆ มากขึ้นเท่านั้น” แอชลีย์ โรว์เดน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จาก NIWA ระบุ

“การที่สัตว์ขนาดใหญ่และสามารถเห็นได้ชัดเจนเช่นนี้หลงหูหลงตาเรามานาน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรายังมีความรู้น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ลึกที่สุดและมีลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้”

แอมฟิพอดยักษ์เคยถูกพบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อทศวรรษที่ 1980 ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางเหนือราว 7,000 กิโลเมตร แต่ยังต้องตรวจสอบต่อไปว่า แอมฟิพอดยักษ์ที่พบในนิวซีแลนด์เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ NIWA ระบุ

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดสัตว์ใต้ทะเลลึกจึงมีวิวัฒนาการจนลำตัวใหญ่มากเช่นนี้




ที่มา
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000015419

ชม “ด้านมืดของดวงจันทร์” คลิปแรกจาก “เกรล” ยานแฝดนาซา

ชม “ด้านมืดของดวงจันทร์” คลิปแรกจาก “เกรล” ยานแฝดนาซา


ปฏิบัติการยานแฝด “เกรล” ของนาซ่าส่งประเดิมส่งคลิปแรก “ด้านมืดของดวงจันทร์” เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของกล้องบนยาน ซึ่งเป็นกล้องที่นักเรียนมัธยมทั่วสหรัฐฯ จะใช้เพื่อบันทึกภาพดวงจันทร์ไปศึกษา

คลิปแรกจากปฏิบัติงานยานแฝดเกรล (GRAIL: Gravity Recovery And Interior Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) นี้ บันทึกจากกล้อง “มูนแกม” (MoonKAM: Knowledge Acquired by Middle school students) ที่ติดตั้งอยู่บนหนึ่งในยานแฝด โดยเผยให้เห็นบรรยากาศอีกด้านของดวงจันทร์ที่ไม่ได้หันมายังโลก

ทั้งนี้ ปฏิบัติการยานแฝดเกรลมียานอวกาศ 2 ลำที่เพิ่งได้รับการตั้งชื่อว่า “เอบบ์” (Ebb) และ “โฟล์ว” (Flow) ซึ่งยานแต่ละลำติดตั้งกล้องมูนแกมกล้องที่นักเรียนมัธยมทั่วสหรัฐฯ จะใช้บันทึกภาพดวงจันทร์เพื่อนำไปศึกษา

นาซาระบุว่าภาพที่บันทึกในคลิปล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบกล้องมุนแกมที่ติดตั้งบนยานเอบบ์ โดยมีการบันทึกภาพตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.55 และปฏิบัติการเกรลนี้ก็มีแผนที่จะทดสอบกล้องมูนแกมบนยานโฟล์วต่อไปด้วย

จากวิดีโอนี้ เราจะเห็นขั้วเหนือของดวงจันทร์ที่ด้านบนสุดของฉาก ซึ่งเป็นภาพขณะที่ยานบินสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์ด้านนี้ค่อนข้างขรุขระซึ่งเป็นผลจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อครั้งดวงจันทร์เพิ่งเริ่มก่อตัว

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นบนดวงจันทร์ที่เห็นได้จากคลิปนี้คือแอ่งทะเลตะวันออก (Mare Orientale) ซึ่งเป็นหลุมใหญ่กว้าง 900 กิโลเมตร ครอบคลุมดวงจันทร์ด้านสว่างที่เห็นจากบนโลกด้วย (ในคลิปคือหลุมขนาดใหญ่ทางด้านขวา) คลิปนี้สิ้นสุดที่พื้นผิวอันขรุขระของขั้วใต้ดวงจันทร์

“คุณภาพของวิดีโอนี้ยอดเยี่ยมมากและจะกระตุ้นนักเรียนในโครงการมูนแกมของเราให้พวกเขาได้เตรียมตัวเพื่อสำรวจดวงจันทร์” มาเรีย ซูเบอร์ (Maria Zuber) นักวิทยาศาสตร์สังเกตการณ์ในปฏิบัติการเกรล จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ในเคมบริดจ์ สหรัฐฯ กล่าว

ทั้งนี้ยานแฝดที่เดิมมีชื่อว่า เกรล-เอ (GRAIL-A) และ เกรล-บี (GRAIL-B) เข้าสุ่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันสิ้นปีและวันปีใหม่ที่ผ่านมา โดยยานอวกาศขนาดเท่าเครื่องซักผ้านี้ได้รับชื่อใหม่จากการประกวดตั้งชื่อสำหรับนักเรียนมัธยมสหรัฐฯ ที่ผ่านมา โดยผู้ตั้งชื่อให้แก่ยานทั้งสองเป็นนักเรียนชั้น ป.4 จากโรงเรียนประถมเอมิลีดิคกินสัน (Emily Dickinson Elementary School)

ทั้งนี้ นักเรียนของสหรัฐฯ หลายพันคนนระดับชั้นเทียบเท่า ป.4- ม.2 จะเล็งเป้าหมายบนดวงจันทร์ และส่งคำขอไปยังศูนย์ควบคุมการดำเนินงานกล้องมูนแกมของปฏิบัติการเกรล ซึ่งตั้งอยู่ที่ซานดิเอโก จากนั้นภาพของเป้าหมายที่ต้องการจะถูกส่งกลับไปยังดาวเทียมเพื่อให้เด็กๆ นำไปศึกษาต่อไป


ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000015032

หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่บริเวณสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที (กม.44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร ซึ่งมีภูมิประเทศและทัศนวิสัยที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ หากแล้วเสร็จจะติดตั้งกล้องโทรทัศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร พร้อมระบบโดมอัตโนมัติซึ่งเป็นกล้องโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านดาราศาสตร์ของประเทศ สามารถรองรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับนานาชาติ กำหนดแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการประมาณกลางปี 2555


นอกจากนี้สถาบันฯ ยังจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (กม.31) เพื่อให้เป็นแหล่งบริการข้อมูลและฝึกอบรมทางดาราศษสตร์ รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมการทำงานและโรงซ่อมบำรุงรักษากล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติฯ ซึ่งในบริเวณนี้สถาบันฯ ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดสร้างชุดนิทรรศการถาวร "จากจักรวาลสู่ดอยอินทนนท์" เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ที่มา
http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=15:national-observatory&catid=10:national-observatory&Itemid=13