ฮือฮา! นักวิทย์กีวีจับ “โคตรกุ้ง” ได้นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์
เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ชาวกีวีพบสัตว์ทะเลเปลือกแข็งหน้าตาประหลาดที่ความลึก 7 กิโลเมตรนอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ โดยพวกมันมีลักษณะคล้ายกุ้ง ทว่าขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์ใกล้เคียงถึง 10 เท่า
“แอมฟิพอดยักษ์” (Supergiant amphipod) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกุ้งประหลาด ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน และสถาบันวิจัยทางทะเล NIWA ในกรุงเวลลิงตัน ซึ่งกำลังทำการสำรวจร่องน้ำเคอร์มาเด็ค (Kermadec Trench) นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ หนึ่งในร่องน้ำที่มีความลึกที่สุดในโลก
แอมฟิพอดทั่วไปจะมีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ซึ่ง อลัน เจมีสัน จากมหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน เผยว่า เขาถึงกับอึ้งเมื่อพบเจ้าตัวที่มีความยาวถึง 28 เซนติเมตร ระหว่างตรวจดูกับดักสัตว์น้ำบนเรือวิจัย
“ผมชะงัก และถามตัวเองว่านี่มันตัวอะไรกัน? ตัวมันใหญ่มากจนไม่น่าเป็นไปได้” เจมีสัน กล่าว
“ผมรู้สึกเหมือนเจอแมลงสาบตัวยาว 1 ฟุต”
แอมฟิพอดอีกตัวหนึ่งซึ่งเรือสำรวจสามารถเก็บภาพไว้ได้แต่ไม่จับขึ้นมา มีความยาวถึง 34 เซนติเมตร
“มันชี้ให้เห็นว่า ยิ่งคุณมองออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบสัตว์แปลกๆ มากขึ้นเท่านั้น” แอชลีย์ โรว์เดน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จาก NIWA ระบุ
“การที่สัตว์ขนาดใหญ่และสามารถเห็นได้ชัดเจนเช่นนี้หลงหูหลงตาเรามานาน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรายังมีความรู้น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ลึกที่สุดและมีลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้”
แอมฟิพอดยักษ์เคยถูกพบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อทศวรรษที่ 1980 ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางเหนือราว 7,000 กิโลเมตร แต่ยังต้องตรวจสอบต่อไปว่า แอมฟิพอดยักษ์ที่พบในนิวซีแลนด์เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ NIWA ระบุ
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดสัตว์ใต้ทะเลลึกจึงมีวิวัฒนาการจนลำตัวใหญ่มากเช่นนี้
ที่มา
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000015419