วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555


ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ วันที่ 8 มิถุนายน 2547 (ภาพ - Vincent Yu/AP)


ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนมาอยู่ในแนวระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ คนบนโลกมีโอกาสเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นดวงกลมดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 ประเทศไทยสามารถสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 11:50 น. โดยดาวศุกร์เริ่มผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตั้งแต่ประมาณ 20 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นที่ประเทศไทย วันนั้นดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 33 เท่า

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เกิดเป็นคู่ ภายในคู่ห่างกัน 8 ปี แต่ละคู่ห่างกัน 105 หรือ 120 ปี ระยะห่างระหว่างแต่ละครั้งจะมีรูปแบบที่แน่นอน คือ 8, 121.5, 8 และ 105.5 ปี และวนซ้ำกันเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ซึ่งเห็นได้ในประเทศไทย หลังจากครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบันทั้งหมด จะไม่มีโอกาสได้เห็นดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อีก เพราะดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์คู่ถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 (ค.ศ. 2117) และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2668 (ค.ศ. 2125)

แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ทำให้การสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จากสถานที่ต่างกัน ให้เวลาสัมผัสที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ที่กรุงเทพฯ สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:49:51 น. แต่ที่โตเกียว สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:47:27 น. ตามเวลาในเขตเวลาเดียวกัน (ถ้าแปลงเป็นเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นต้องบวก 2 ชั่วโมง) เป็นต้น

พื้นที่ที่เห็นปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดคือประเทศทางด้านตะวันออกของเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ด้านตะวันออกของจีน มองโกเลีย ด้านตะวันออกของรัสเซีย ด้านตะวันออกของออสเตรเลีย เกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์ ฮาวาย ด้านตะวันตกของแคนาดา และรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น คือดาวศุกร์ได้เคลื่อนเข้ามาในดวงอาทิตย์แล้วก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ได้แก่ เกือบทั้งหมดของยุโรป ตะวันออกกลาง ด้านตะวันออกของแอฟริกา ด้านตะวันตกของเอเชีย ด้านตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งประเทศไทย) และด้านตะวันตกของออสเตรเลีย

พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ตก คือดวงอาทิตย์ตกขณะที่ดาวศุกร์ยังอยู่ในดวงอาทิตย์ ได้แก่ ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ ซึ่งพื้นที่นี้ยังเป็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น



ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555 ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย ส่วนทวีปอเมริกาเหนือและใต้จะเห็นได้ในเย็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ภาพนี้แสดงเวลาที่ดาวศุกร์สัมผัสขอบดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 สัมผัส ตามเวลาประเทศไทย โดยสมมุติว่าสังเกตการณ์จากศูนย์กลางโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือสังเกตจากผิวโลกขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดเหนือศีรษะ แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ ทำให้เวลาที่มองเห็นดาวศุกร์แตะขอบดวงอาทิตย์จากสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน สำหรับกรุงเทพฯ จะเห็นได้เฉพาะสัมผัสที่ 3 และ 4 เกิดขึ้นในเวลา 11:32:28 น. และ 11:49:51 น. ตามลำดับ

ที่มา
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2012eclipses.html