วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดินถล่ม (ภัยพิบัติ)

ดินถล่ม (ภัยพิบัติ)



ดินถล่ม (Landslide) คือปรากฏการณ์ที่ส่วนของพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ดิน ทราย โคลน หรือเศษดิน เศษต้นไม้ไหล เลื่อน เคลื่อน ถล่ม พังทลาย หรือหล่น ลงมาตามที่ลาดเอียง อันเนื่องมาจากแรงดึงดูดของโลก ในขณะที่สภาพส่วนประกอบของชั้นดิน ความชื้นและความชุ่มน้ำในดิน ทำให้เกิดการเสียสมดุล

ดินถล่ม เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาแต่สร้างโลก อาจเป็นเพียงเล็กน้อยเพียงก้อนหินก้อนเดียวที่ตกหรือหล่นลงมา หรือเศษของดินจำนวนไม่มากที่ไหลลงมา หรืออาจเกิดรุนแรงใหญ่โต เช่น ภูเขาหรือหน้าผา หรือลากเขาพังทลายลงมาก็ได้ และอาจเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรือค่อยๆ เป็นไปช้าๆ ก็ได้ จนกว่าจะเกิดความสมดุลใหม่จึงหยุด

เนื่องจากในระยะหลังๆ นี้ ดินถล่มปรากฏเป็นข่าวบ่อยมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น

สาเหตุของดินถล่ม (Causes of Landslides)
เกิดจากกรที่พื้นดินหรือส่วนของพื้นดินเคลื่อน เลื่อน ตกหล่น หรือไหล ลงมาจากที่ลาดชัน หรือลาดเอียงต่างระดับ ตามแรงดึงดูดของโลกในภาวะที่เกิดการเสียสมดุลด้วยเหตุต่างๆ มักพบบ่อยๆ บริเวณภูเขาที่ลาดชัน แต่ความจริงอาจเกิดขึ้นบริเวณฝั่งแม่น้ำ และชายฝั่งทะเลหรือมหาสมุทร แม้กระทั่งใต้มหาสมุทร แบ่งสาเหตุที่อาจทำให้ดินถล่มได้เป็น

1. สาเหตุตามธรรมชาติ (Natural causes)

- ความแข็งแรงของดิน ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของดิน (Soil composition) ว่าเป็น หินหรือ ดิน ประเภทใด มีโครงสร้างหรือมีต้นไม้ประกอบยึดเกาะกันแข็งแรงแค่ไหน มีชั้นดินดานตื้นหรือลึกในลักษณะใด

- ที่ที่มีความลาดเอียงมาก (Steep slope)

- มีฝนตกมากนานๆ (Prolong heavy rain)

- มีหิมะตกมาก (Heavy snowfall)

- โครงสร้างของแผ่นดิน (Structure of soil) ความแตกต่างกันของชั้นดินที่น้ำซืมผ่านได้ กับชั้นที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ ที่จะทำให้น้ำขังใต้ดินมากจนดินเหลวบนที่ลาดเอียง ทำให้เกิดการไหลได้

- ฤดูกาล (Glacial erosion, rain, drought)

- ต้นไม้ถูกทำลายโดยไฟป่าหรือความแล้ง (Vegetation removal by fire or drought)

- แผ่นดินไหว (Earthquake)

- คลื่น "สึนามิ" (Tsunami)

- ภูเขาไฟระเบิด (Volcanic eruption)

- การเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดิน (Change in underground water)

- การสึกกร่อนของชั้นหินใต้ดิน (Change in underground structure)

- การกัดเซาะของฝั่งแม่น้ำ ฝั่งทะเล และไหล่ทวีป (Coastal erosion and change in continental slope)


2. สาเหตุจากมนุษย์( Human causes )

- การขุดดินบริเวณไหล่เขา ลาดเขาหรือเชิงเขา ( Excavation of slpoe or its toe ) เพื่อการเกษตร หรือทำถนน หรือขยายที่ราบในการพัฒนาที่ดิน หรือการทำเหมือง ( Mining ) ไม่ว่าบนภูเขาหรือพื้นราบ

- การดูดทรายจากแม่น้ำ หรือบนแผ่นดิน

- การขุดดินลึก ๆ ในการก่อสร้างห้องใต้ดินของอาคาร

- การบดอัดที่ดินเพื่อการก่อสร้าง ทำให้เกิดการเคลื่อนของดินในบริเวณใกล้เคียง

- การสูบน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล ที่มากเกินไป หรือการอัดน้ำลงใต้ดิน ในพื้นที่บางแห่ง

- การถมดิน ก่อสร้าง เพิ่มน้ำหนัก บนภูเขา หรือสันเขา ( Loading or building on crest or slope )

- การทำลายป่า ( Deforestation ) เพื่อทำไร่ หรือสวนเกษตรกรรม

- การทำอ่างเก็บน้ำ ( Reservoir ) นอกจากเป็นการเพิ่มน้ำหนักบนภูเขาแล้ว ยังทำให้น้ำซึมลงใต้ดินมากจนเกินสมดุล

- การเปลี่ยนแปลงทางน้ำธรรมชาติ ( Change the natural stream ) ทำให้ระบบน้ำใต้ดินเสียสมดุล

- น้ำทิ้งจากอาคาร บ้านเรือน สวนสาธรณะ ถนน บนภูเขา ( Water from utilities leakages or or drainages )

- การกระเทือนต่าง ๆ เช่นการระเบิดหิน ( Artificial vibration )


ประเภทของดินถล่ม ( Types of Landslides )
จากส่วนประกอบของดิน และสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดดินถล่ม ดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ลักษณะของดินถล่มมีรูปแบบต่าง ๆ กัน ดังนี้

1. การตกหล่น ( Falls ) มักเป็นก้อนหิน( Rock ) หรือ หินก้อนใหญ่ทั้งก้อน ( Boulder ) อาจตกหล่นลงมาโดยตรง ( Free fall ) หรือตกกระดอน ๆ ลงมา ( Bouncing ) หรือกลิ้งลงมา ( Rolling ) และสำหรับกรณีที่หินร่วงตกลงมามาก ๆ เป็นกองใหญ่ เช่นจากภูเขาที่มีน้ำแข็ง หินที่ตกลงมาจะกองเป็นรูปกรวยคว่ำ ( cone-shape ) เรียกว่า Talus slope

2. ล้มหรือหกคะเมน ( Topple ) มักเป็นหินที่เป็นแผ่นเป็นแท่งที่แตกและล้มคะเมนลงมา

3. การคืบ - เคลื่อนไปช้า ๆ (Creep) ของดิน หรือหิน เนื่องจากมีแรงดึงไปน้อย พอที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ แต่อย่างช้า ๆ มาก ๆ ซึ่งมี 3 รูปแบบ คือ

ก. เคลื่อนตามฤดูกาล ( Seasonal ) ที่มีความชุ่มและอุณหภูมิของดินชั้นล่างพอดีของแรงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนได้

ข. เคลื่อนอย่างคงที่ตลอดเวลา ( Continuous ) จากแรงตึงมีมีอย่างคงที่

ค. เคลื่อนด้วยอัตราเร่ง ( Progressive ) เพราะความลาดชันที่ทำให้แรงเคลื่อนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

4. การสไลด์
4.1 Transitional slide ถ้าพื้นดินชั้นล่างเป็นแผ่นระนาบค่อนข้างเรียบ พื้นดินข้างบนก็จะเคลื่อนลงมาในแนวขนานกับที่ลาดเอียงนั้น ทิ้งรอยแยกเป็นร่องไว้ด้านบน

4.2 Rotational slide เมื่อพื้นชั้นล่างที่ดินแยกตัวเป็นที่ลาดโค้งเว้า ดินที่จะเคลื่อนลงมาก็จะเคลื่อนโค้งหมุนตัวรอบแกนที่ขวางขนานกับที่ลาดเอียงนั้น หมุนตัวเข้าด้านใน หากมีต้นไม้หรือสิ่งก่อสร้างอยู่บนนั้น ก็จะเห็นการเอียงเข้าหาด้านบนได้ ส่วนรอยเคลื่อนของผิวดินตรงขอบบนจะเป็นรอยโค้งเว้าขึ้นไปด้านบน ทิ้งร่องรอยเป็นหน้าผาเว้าที่ชันกว่าเดิม ส่วนที่พื้นดินด้านล่างลงไปจะมีดินถูกดันโป่งออกมาเป็นหย่อม ๆ ลักษณะคล้ายนิ้วเท้า เรียกว่า Toe เป็นลักษณะให้สังเกตรู้ได้ว่า ที่ข้างบนขึ้นไปเคยมีดินถล่ม Landslide

ดินที่เคลื่อน แบบนี้ จะมีส่วนที่ยังเกาะเป็นชิ้นเป็นผืนเดียวกัน เรียกว่า Slump

5. การไหล ( Flows ) เกิดจากมีส่วนประกอบของน้ำจำนวนมากและและไหลเร็วลงมาตามที่ลาดชัน มีหลายแบบ ได้แก่

5.1 เศษดินทรายและเศษต้นไม้ ( Debris flow ) เป็นเศษชิ้นเล็ก ๆ และผงขนาดเม็ดทรายที่ไหลมากับน้ำ พบเห็นบ่อยทั่วไป

5.2 การถล่มของก้อนหิมะที่ทับถมกันเป็นจำนวนมาก ( Debris avalanche )

5.3 ดินไหล( Earth flow ) มักเกิดในที่ไม่ลาดชันนัก ที่มีส่วนประกอบเป็นดิน โคลน และก้อนกรวดเล็ก ๆ ในบริเวณที่ชุ่มน้ำมากจนเป็นส่วนผสมที่เหลวจนไหลได้ จึงไหวลงมาเป็นทางแคบ ๆ มากองอยู่ในที่ต่ำลงมา ทิ้งร่องรอยที่เดิมเป็นแอ่ง ทำให้เป็นรูปคล้ายนาฬิกาทราย

5.4 โคลนไหล ( Mudflow ) เกิดเช่นเดียวกับข้อก่อน แต่มีส่วนผสมเป็นโคลนและทรายและน้ำ ซึ่งในบางครั้งน้ำโคลนที่ขังอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมากอาจทะลักและไหลออกมาอย่างรวดเร็วเป็นกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ( Torrent ) สามารถไหลไปได้ไกล ลงไปท่วมในที่ต่ำข้างล่างได้ และหากท่วมเข้าไปในหมู่บ้านหรือเมืองบริเวณเชิงเขา จะทำให้ผู้คนเสียชีวิตได้มาก เพราะหนีออกจากน้ำโคลนได้ยาก ส่วนโคลนร้อนที่ถูกพ่นออกมาจากภูเขาไฟ เรียกว่า Lahar


6. การเคลื่อนแผ่ออกไปด้านข้าง( Lateral spreading )
เกิดในที่ลาดชันน้อยหรือที่ราบ เนื่องจากมีความชุ่มน้ำมากจนพื้นดินเริ่มเหลวตัว ( Liquefaction ) พื้นดินไม่มีแรงพอที่จะเกาะกุมกัน จึงแผ่ตัวออกไปทางข้าง ๆ และบางครั้งตรงขอบบนของที่ลาดเอียงเล็กน้อยนั้น อาจเกิดรอยแยกของดิน หรือตรงด้านข้างอาจเกิดการหมุนตัวของแผ่นดิน หรือในที่ลาดเอียงบางแห่งจะมีการเคลื่อนเร็วขึ้น จนเป็นดินเลื่อน หรือดินไหลได้

ที่มา
http://www.siamvolunteer.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=9&auto_id=7&TopicPk=