อันตรายจากเสียงดัง
ในโรงงานหลายประเภท เช่น โรงทอผ้า โรงเลื่อยไม้ โรงงานปั้มโลหะ ฯลฯ พนักงานต้องสัมผัสกับเสียงดังตลอดระยะเวลาการทำงาน ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินและผลเสียอื่น ๆ ต่อ ร่างกายได้
อันตรายจากเสียง
1. การสูญเสียการได้ยิน มี 2 ลักษณะ คือ
1.1 การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว เนื่องจากรับฟังเสียงดังมาก ๆ ในระยะเวลาไม่นานนัก ทำให้หูอื้อ ถ้าหยุดพักการได้ยินก็จะคืนสู่สภาพปกติได้
1.2 การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร เกิดจากการที่ต้องรับฟังเสียงดังเป็นระยะเวลานาน ทำให้เซลล์ขนในหูชั้นในถูกทำลาย ทำให้รับฟังเสียงไม่ได้ เกิดหูตึง หูพิการ
2. ผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ
- เกิดความรำคาญ หงุดหงิด เกิดความเครียด และเป็นโรคจิต โรคประสาทได้ง่าย
- รบกวนการนอนหลับ
- ทำให้เกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ต่อมไธรอยด์เป็นพิษ
- ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- เป็นอุปสรรคในการทำงานอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
เสียงดังแค่ไหนจึงจะเกิดอันตราย
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม กำหนดให้ระดับความดังของเสียงได้รับติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ) ในระยะเวลาการทำงาน ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงและไม่เกิน 80 เดซิเบล (เอ) หากทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ผู้ที่ทำงานที่มีเสียงดังตามที่กำหนดในมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นนี้ จะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินน้อยลงอีก หากสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันไว้ด้วย
วิธีป้องกันการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน
1. ปรับปรุงแก้ไข เพื่อลดเสียงจากเครื่องจักร อุปกรณ์หรือแหล่งที่ทำให้เกิดเสียงดัง
2. สวมอุปกรณ์ป้องกันหูตลอดเวลาการทำงาน
3. เผยแพร่ความรู้เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงอันตรายของเสียงและประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ป้องกันหู
4. ทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานที่ต้องสัมผัสกับเสียงดัง
5. ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ระดับความดังของเสียงเกินมาตรฐานที่กำหนด
ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันระบบการได้ยิน
1. ปลั๊กอุดหู (EAR PLUGS) จะสามารถลดเสียงที่มีความถี่สูงที่จะเข้าหูได้ถึง 25-30 เดซิเบล จึงสามารถใช้ป้องกันได้เพียงพอในที่ซึ่งมีระดับความดังของเสียงไม่เกิน 115-120 เดซิเบล
2. ครอบหู (EAR MUFF) จะสามารถป้องกันเสียงได้สูงกว่าปลั๊กอุดหูประมาณ 10-15 เดซิเบล ซึ่งสามารถลดเสียงได้ 35-40 เดซิเบล ดังนั้นจึงใช้ป้องกันได้ในที่ซึ่งมีระดับความดังของเสียงถึง 130-135 เดซิเบล
ขอบคุณข้อมูลจาก - ศูนย์อาชีวอนามัยและเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จ.ระยอง