วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หมอก (Fog)

หมอก (Fog)

หมอก เกิดจากไอน้ำเปลี่ยนสถานะควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็กๆ เช่นเดียวกับเมฆ เพียงแต่เมฆเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเนื่องจากการยกตัวของกลุ่มอากาศ แต่หมอกเกิดขึ้นจากความเย็นของพื้นผิว หรือการเพิ่มปริมาณไอน้ำในอากาศ

ในวันที่มีอากาศชื้น และท้องฟ้าใส พอตกกลางคืนพื้นดินจะเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ไอน้ำในอากาศเหนือพื้นดินควบแน่นเป็นหยดน้ำ หมอกซึ่งเกิดขึ้นโดยวิธีนี้จะมีอุณหภูมิต่ำและมีความหนาแน่นสูง เคลื่อนตัวลงสู่ที่ต่ำ และมีอยู่อย่างหนาแน่นในหุบเหว

เมื่ออากาศอุ่นมีความชื้นสูง ปะทะกับพื้นผิวที่มีความหนาวเย็น เช่น ผิวน้ำในทะเลสาบ อากาศจะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ ในลักษณะเช่นเดียวกับหยดน้ำซึ่งเกาะอยู่รอบแก้วน้ำแข็ง

เมื่ออากาศร้อนซึ่งมีความชื้นสูง ปะทะกับอากาศเย็นซึ่งอยู่ข้างบน แล้วควบแน่นเป็นหยดน้ำ เช่น เวลาหลังฝนตก ไอน้ำที่ระเหยขึ้นจากพื้นถนนซึ่งร้อน ปะทะกับอากาศเย็นซึ่งอยู่ข้างบน แล้วควบแน่นกลายเป็นหมอก หรือไอน้ำจากลมหายใจเมื่อปะทะกับอากาศเย็นของฤดูหนาว แล้วควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็กๆ ให้เรามองเห็นเป็นควันสีขาว

กิจกรรมทดลอง การเกิดหมอก
วัสดุอุปกรณ์
1.ขวดแก้วปากกว้างพร้อมฝา
2.ไม้ขีดไฟ
3.น้ำ
4.น้ำแข็งก้อน

วิธีการทดลอง
1.รินน้ำเล็กน้อยลงในขวดแก้ว ปิดฝาแล้วเขย่า เพื่อให้อากาศภายในขวดทุกส่วนสัมผัสกับน้ำ เทน้ำที่เหลือออก
2.จุดไม้ขีดไฟ แล้วใส่ลงในขวด เมื่อไฟดับ ให้ปิด ปากขวดด้วยฝา
3.วางน้ำแข็งบนฝา สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน

ผลการทดลอง
เราจะเห็นภายในขวดมีลักษณะคล้ายหมอก การที่ให้อากาศ ภายในขวดสัมผัสน้ำจะทำให้อากาศภายในมีไอน้ำ การจุดไม้ขีดไฟจะช่วย ให้ไอน้ำในขวดอุ่นขึ้นเล็กน้อย เมึ่อไอน้ำสัมผัสกับอากาศที่เย็นกว่า ก็จะ กลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆอยู่กันหนาแน่นมองเห็นลักษณะเป็นควันจางๆ นั่นคือ หมอก

ที่มา :
http://www.ipst.ac.th/Activity_PrimarySci/science-p/main-sci-p.html